@55674

ความหมายของคำว่า โอตากุ (Otaku) (รายละเอียดเยอะ)

Yukari02 View 899
ความหมายของคำว่า โอตากุ (Otaku)

1. ประวัติความเป็นมาของคำว่า Otaku

ระยะที่ 1 : ต้นกำเนิดของคำว่า Otaku

คำ ว่า Otaku (ออกเสียงว่า โอ-ทา-กุ) เป็นคำนาม ดัดแปลงมาจากคำว่า O-taku ซึ่งเกิดจากการนำเอาคำปัจจัย "O-" มาเติมหน้าตัวคันจิ "taku" ซึ่งแปลว่า "บ้าน" และใช้เมื่อกล่าวถึงบ้านของคู่สนทนา ในความหมายว่า "บ้านของคุณ" นอกจากนี้ยังสามารถใช้เรียกแทนตัวคู่สนทนาได้ ในความหมายของ "คุณ" อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะในความหมายของ "บ้าน" หรือ "คุณ" Otaku ก็ถือว่าเป็นคำที่ให้ความรู้สึกสุภาพและเป็นทางการอย่างมาก
การนำเอาคำ ว่า Otaku มาใช้เรียกกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนั้น ไม่มีแหล่งยืนยันแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่ตอนไหน แต่ควรจะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้วในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 เนื่องจากวีดิโอที่ชื่อ "Otaku no Video" ของบริษัท GAINAX ที่ออกมาในปี 1992 ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของพวก Otaku นั้น ยืนพื้นจากเหตุการณ์ในช่วงปี 1982-85 เฟรเดอริค ชอดต์ (Frederik L. Schodt) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Dreamland Japan : Writing on modern manga ว่า ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 แฟนการ์ตูนและอนิเมชั่น (Animation) ได้เริ่มใช้คำว่า Otaku เรียกกันและกัน สาเหตุที่ใช้ไม่เป็นที่ชัดเจนแต่คำศัพท์นี้ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เรื่อย ๆ พร้อมกับที่กระแสความนิยมในการ์ตูนและอนิเมชั่นได้ก่อให้เกิดการเพิ่มจำนวน ของพวกมาเนีย (Mania) หรือแฟนพันธุ์แท้ (Hardcore Fans) มากขึ้น

โว ลเกอร์ กลาสมัค (Volker Grassmuck) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันกล่าวว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า Otaku มีสภาพร่างกายและจิตใจที่เปราะบาง แต่ไม่ใช่พวกอารมณ์รุนแรง เพียงขาดความมั่นใจในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นสาเหตุให้เกิดการใช้คำพูดที่สุภาพเรียบร้อยเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดอันอาจก่อให้เกิดข้อขัดแย้งกับผู้อื่น

ส่วน การใช้คำว่า Otaku ในสิ่งตีพิมพ์ มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1983 โดยนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อ นากาโมริ อากิโอะ (Nakamori Akio) เขาเขียนคอลัมน์ที่มีชื่อว่า โอทากุ โนะ เคงคิว (Otaku no kenkyu) ลงติดต่อกันในนิตยสารการ์ตูนแนวปลุกใจเสือป่าชื่อ มังงะ บุริกโกะ (Manga Burikko) โดยกล่าวถึงกลุ่มแฟนการ์ตูนที่เรียกกันและกันว่า Otaku เค้าจึงเรียกคนพวกนี้รวม ๆ ว่า โอทากุ-โซกุ (Otaku-zoku) ซึ่งแปลว่า เผ่าพันธุ์ Otaku และต่อมาตัดเหลือเพียง Otaku เขาเขียนบรรยายถึงความประทับใจที่มีต่อเหล่าแฟนการ์ตูนที่มาร่วมงาน นิทรรศการการ์ตูนว่า

“เป็นกลุ่มคนที่เล่นกีฬาไม่เก่งและชอบเก็บตัว อยู่ในห้องเรียนในเวลาพักที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุก ๆ ชั้นเรียน… รูปร่างถ้าไม่ผอมแห้งเหมือนขาดสารอาหารก็อ้วนฉุจนผิดสัดส่วน… ส่วนใหญ่จะใส่แว่นตากรอบเงินหนาเตอะ… และเป็นคนประเภทที่ไม่มีใครคบหาด้วย”

เขา เห็นว่า คำว่า “มาเนีย" (Mania) หรือ “แฟนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” (Enthusiastic Fans) ยังไม่สามารถที่จะใช้เรียกคนกลุ่มนี้ได้อย่างครอบคลุม จึงขอเรียกด้วยคำว่า “Otaku”

แม้ว่าคอลัมน์ของนากาโมริจะถูกยกเลิก ไปในเวลาไม่นาน แต่ภาพพจน์ของ Otaku ที่นากาโมริได้บรรยายเอาไว้ก็ได้กลายมาเป็น Stereotyped ของ Otaku ที่ยังคงอยู่ในสังคมและถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสื่อมวลชน เนื่องจากพวกเขาเริ่มสังเกตเห็นถึงการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของเยาวชนที่ หมกมุ่นอยู่กับการ์ตูนและอนิเมชั่น

ระยะที่ 2 : คดี Miyazaki กับ Otaku panic

คำ ว่า Otaku panic ถูกนำมาใช้โดยชารอน คินเซลลา (Sharon Kinsella) ในหนังสือ Adult manga : culture & power in contemporary japanese society เมื่อกล่าวถึงคดี Miyasaki ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คำว่า Otaku เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น

คดี Miyazaki เกิดขึ้นระหว่างปี 1988-1989 ที่จังหวัดไซตามะ (Saitama) โดยนายมิยาซากิ ซึโตมุ (Miyazaki Tsutomu) วัย 27 ปีได้ประกอบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเด็กหญิงวัยก่อนเข้าเรียนจำนวน 4 คน ซึ่งทุกคนจะถูกมิยาซากิลักพาตัวไปที่ห้องพัก เพื่อข่มขืนแล้วฆ่าปิดปาก จากนั้นจึงทำการแยกส่วนศพไปซ่อนเพื่ออำพรางคดี หลังจากนั้นเขายังได้บันทึกเรื่องราวทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้เขายังเคยส่งชิ้นส่วนกระดูกและฟันของเหยื่อรายหนึ่งไปให้ครอบครัว ของเหยื่อ โดยใช้ชื่อปลอมว่า อิมาดะ ยูโกะ (Imada Yuko) ซึ่งเป็นชื่อของตัวละครในอนิเมชั่นที่เขาชื่นชอบ ความโหดเ:X้ยมของการกระทำของมิยาซากิทำให้ The New York Times ถึงกับวิจารณ์ว่า "ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่น"

หลัง จากที่ตำรวจจับตัวมิยาซากิได้นั้น จากการสอบปากคำพบว่าเขามีรูปแบบการดำรงชีวิต 2 แบบ โดยตอนกลางวันจะเป็นเด็กฝึกงานของโรงพิมพ์ในละแวกนั้น แต่ตอนกลางคืนจะเพลิดเพลินอยู่กับการ์ตูนและวีดิโอกว่า 6000 ม้วน ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาแนวสยองขวัญและลามกอนาจาร การที่ทนายของเขาพยายามแก้ต่างว่ามิยาซากิไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเป็น กับความตาย หรือ โลกแห่งความจริงกับโลกในจินตนาการได้นั้น ทำให้สื่อมวลชนพากันประนามการกระทำของเขาว่ามีสาเหตุมาจากการ์ตูนและอนิเม ชั่น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ บรรดาสื่อมวลชนได้ใช้คำว่า Otaku เรียกแทนตัวมิยาซากิในการประโคมข่าว ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดภาพพจน์ในแง่ลบต่อคำว่า Otaku นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชอดต์ (Frederik L. Schodt) กล่าวว่า หลังจากคดี Miyazaki เรื่องราวเกี่ยวกับ Otaku และ Otaku-zoku ได้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในที่สุดคำว่า Otaku ก็ได้ถูกใช้แทน ชายหนุ่มที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกแห่งความจริง จมปลักอยู่กับความคิดฟุ้งซ่านจากหนังสือการ์ตูนและอนิเมชั่นแนวลามกอนาจาร และมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นในเรื่องเซ็กส์ ในความหมายหนึ่งก็คือ บุคคลที่มีปัญหาทางจิตและเป็นภัยคุกคามต่อสังคม… เหมือนมิยาซากิ

แม้ ว่าจะยังมีนักวิจารณ์บางรายให้ความโต้แย้งว่า Otaku เป็นคำศัพท์ที่สื่อมวลชนนำมาใช้อย่างลำเอียงเพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างข่าว เกี่ยวกับ Otaku แต่ท่ามกลางกระแสความสนใจที่สังคมมีต่อคดีมิยาซากิก็ทำให้ไม่มีใครให้ความ สนใจต่อความเห็นเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Otaku ก็ได้มีความพยายามที่จะลบล้างภาพพจน์ดังกล่าว เช่น ในปี 1992 "Otaku no Video" ของบริษัท GAINAX อันเป็นบริษัทผลิตอนิเมชั่นชื่อดังได้ออกวางตลาดโดยนำเสนอชีวิตและสังคมของ กลุ่ม Otaku ในลักษณะที่ขบขันและล้อเลียน แต่แฝงไว้ด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อให้คนทั่วไปมีภาพพจน์ที่ดีต่อ Otaku และสร้างความเข้าใจว่าไม่ควรด่วนตัดสินว่าสื่อการ์ตูนทั้งหมดให้โทษต่อสังคม ด้วยคดี Miyazaki เพียงอย่างเดียว หรือการที่นายโอกาดะ โทชิโอะ (Okada Toshio) ประธานบริษัท GAINAX ผู้ได้รับสมญานามว่า "Ota-king" ได้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Otaku โดยเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมของ Otaku ออกมาหลายเล่ม ทั้งยังรับเป็นอาจารย์พิเศษในการบรรยายหัวข้อ Otaku Studies ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวอีกด้วย ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้ภาพพจน์ของ Otaku ดีขึ้นมาบ้างในช่วงทศวรรษที่ 1990

หากแต่คดี Miyazaki ไม่ใช่คดีสะเทือนขวัญคดีเดียวที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนที่เป็น Otaku กรณีที่ การ์ตูน อนิเมชั่น Otaku และอาชญากรรมถูกเชื่อมโยงเข้าหากันในแง่ร้ายยังมีอีกมากมาย เช่น เหตุการณ์ปล่อยแก๊สพิษในสถานีรถไฟใต้ดินเมื่อต้นปี 1995 ของลัทธิโอม ชินริเกียว (Aum Shinrikyo) ที่นำโดยนายอาซาฮาระ โชโกะ (Asahara Shoko) ก็ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่านายอาซาฮาระนั้นชื่นชอบในการ์ตูนและอนิเมชั่น เกี่ยวกับหุ่นยนต์มาตั้งแต่เด็ก ความเชื่อหลายประการในลัทธิของเขาเช่น วันสิ้นโลก (Armageddon) สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่ได้รับมาจากอนิเมชั่นในสมัยก่อน นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวของนิตยสาร AERA รายสัปดาห์ยังเคยรายงานถึงการใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการดึงดูดคนให้เข้าลัทธิ ในชื่อของ “AUM COMIC”

เนื่องจากทั้งสองคดีนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ อยู่ในความสนใจของสังคม และต่างก็ถูกสื่อมวลชนนำมาเชื่อมโยงกับคำว่า Otaku เพื่อผลในการประโคมข่าว ทำให้ภาพพจน์ในแง่ลบของคำว่า Otaku ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่น

ระยะที่ 3 : ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปของ Otaku

คำ ว่า Otaku เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในความหมายที่เบาและกว้างขึ้นเมื่อราว ๆ กลางทศวรรษที่ 1990 โดยจะถูกนำมาใช้กับใครก็ได้ที่มีความคลั่งไคล้เป็นพิเศษในงานอดิเรกอย่างใด อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกมส์ การถ่ายรูปหรือการสะสมแสตมป์ และกลุ่มคนที่เป็น Otaku ก็นำมาใช้เรียกตนเองด้วยความรู้สึกที่ภาคภูมิใจมากขึ้น เช่น Tropical Fish Otaku, Idol Otaku, Robot Otaku และ Lolicom Otaku เป็นต้น

เนื่อง จากในระยะหลังญี่ปุ่นมีปัญหาสังคมอื่นที่รุนแรงกว่าเพิ่มขึ้นอีกมาก ความสนใจในเรื่องของ Otaku เริ่มลดลง สื่อมวลชนจึงเลิกประโคมข่าวแล้วหันไปจับประเด็นอื่น รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Otaku ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ข้อเขียนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Otaku ในแง่มุมต่าง ๆ (นอกจากในแง่ร้าย) ก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักวิชาการได้มีงานวิจัยเกี่ยวกับ Otaku ออกมามากมาย ในฐานะที่เป็น "คนกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์"

ยา มาซากิ โคอิจิ (Yamazaki Koichi) นักเขียน-นักวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า Otaku เป็นผลผลิตของลัทธินายทุนและสังคมแบบบริโภคนิยม มีจุดกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทศวรรษที่ 1970 เป็นพวก Information Fetish ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ไม่ใช่พวกเก็บตัว แต่บางครั้งชอบทำตัวแตกต่างจากคนอื่น เขาเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นในญี่ปุ่น

กลา สมัค (Volker Grassmuck) กล่าวว่า Otaku เป็นคำที่ใช้เรียกแทนรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหนึ่ง เขากล่าวถึงภาพลักษณ์ของ Otaku ในสายตาคนทั่วไปว่าจะต้องเป็นผู้ชายวัย 10-30 ปี ชอบสวมกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต และรองเท้าแตะ ไม่ชอบการติดต่อสัมพันธ์ทางกาย คลั่งสื่อมัลติมีเดียและเทคโนโลยี มักจะเป็นพวกนักสะสมสิ่งของและสืบค้นหาข้อมูลต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง (Information Fetish) เป็นเหมือนพวกใต้ดิน แต่ไม่ต่อต้านระบบ เป็นผลผลิตของสื่อมวลชน และมีพื้นฐานมาจากพวกโมราโทเรียม (Moratorium ningen) ในทศวรรษที่ 1970 ซึ่งพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ บังคับให้เรียนอย่างเดียวแล้วปรนเปรอเด็กด้วยของเล่น คอมพิวเตอร์และเกมส์ เมื่อเด็กเกิดความเครียดจากการเรียนก็จะหนีเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ ทำให้เด็กโลกแห่งความเป็นจริงและโลกในจินตนาการไม่ออก

คินเซลล่า (Sharon Kinsella) เห็นว่า Otaku คือคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นปัจเจกสูงผิดปกติ ในระดับที่ไม่รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวเมื่อแยกตัวเองออกจากสังคม ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบปัจเจกชนนิยมของชาวญี่ปุ่นที่ เพิ่มมากขึ้น จนทำให้คนในสังคมขาดความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จึงเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนสนใจ

เธอยังเห็นว่าพฤติกรรมของพวก Otaku ยังน่าจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับโรคที่ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ (Peter-pan syndrome) ซึ่งพบมากในคนญี่ปุ่น แม้จะเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานจนถึงวัยกลางคนก็ตาม Otaku จึงนับว่าเป็นสัญลักษณ์แทนสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน อีกนัยหนึ่งก็คือ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและ ลัทธิปัจเจกชนนิยมตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา จากข้อเขียนใน SPA! magazine ปี 1986 เห็นว่า Otaku เป็นผลิตผลของยุคข้อมูลข่าวสารในโตเกียว เป็นเด็กที่ถูกอบรมให้จดจำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิธีการผ่อนคลายของคนเหล่านี้ก็คือการอ่านการ์ตูนที่มีเนื้อหาล่อแหลม เล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรง เพื่อหลบจากการบีบบังคับของสังคม ผลก็คือ เกิดกลุ่ม Hardcore Otaku ในหมู่คนรุ่นใหม่กว่าแสนคน (แต่จากการประมาณของสำนักข่าวโตเกียวระบุว่ามีถึงล้านคน)

วิลเลียม กิ๊บสัน (William Gibson) เห็นว่า Otaku เป็นคนที่มีพฤติกรรมคลั่งไคล้ในบางสิ่งบางอย่างอย่างรุนแรง (Passionate Obsessive) และจดจ่อต่อการค้นหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มากผิดปกติ อาจกล่าวได้ว่า ความแตกต่างระหว่าง Otaku กับคนทั่วไปที่เห็นได้ชัดก็คือ ทัศนคติที่ Otaku มีต่อ “ข้อมูล” นี่เอง

ลอเรนซ์ อิง (Lawrence Eng) เห็นว่าเป็นพวก Self-defined cyborgs เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมากและจะค้นหา ข้อมูลจากทุกแหล่งเพื่อที่จะได้รู้จักและเข้าใจสิ่งนั้นมากขึ้น เพื่อความพอใจส่วนตัว

นอกจากนี้คำว่า Otaku ยังได้ถูกนำมาแผลงเป็นคำคุณศัพท์ว่า โอทากิอิ (Otakii) โดยใช้ในความหมายเชิงล้อเลียนของการมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับอะไรสัก อย่างอยู่เพียงลำพัง

ระยะที่ 4 : Otaku, Shin-jinrui, Moratorium ningen และ Hikikomori no hito

ตั้งแต่ ปี 2000 เป็นต้นมา Otaku ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมของญี่ปุ่นได้รับการยอม รับในระดับหนึ่ง นั่นก็คือ สังคมเข้าใจว่า "พฤติกรรม" แบบ Otaku มีหลายระดับและไม่ใช่สิ่งเสียหาย คนที่เป็น Otaku ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสังคมหมดทุกคน และ Otaku ก็เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มคนที่เป็นผลผลิตของสังคมญี่ปุ่นยุคใหม่ ในปัจจุบัน นักวิชาการและนักวิจารณ์นิยมสร้างคำจำกัดความเกี่ยวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มี พฤติกรรมแบบต่าง ๆ ขึ้นมามากมายและก็นิยมที่จะนำเอาคำว่า Otaku ไปเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก็ช่วยทำให้คำจำกัดความของ Otaku มีความเด่นชัดมากขึ้น

คำจำกัดความเกี่ยวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มักจะ ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ Otaku คือ ชิน-จินรุย (Shin-jinrui) โมราโทเรียม นิงเกน (Moratorium ningen) และฮิกิโกโมริ โนะ ฮิโตะ (Hikikomori no hito)

Shin-jinrui : จากบทความเรื่อง I’m alone but not lonely กลาสมัค (Volker Grassmuck) เห็นว่าคำนี้ถูกใช้ในความหมายที่กว้างเหมือน Otaku กล่าวคือ เป็นคำเรียกรวม ๆ ที่หมายถึงคนรุ่นใหม่ แต่บางครั้งที่ใช้อย่างจำเพาะเจาะจงเยาวชนบางกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกับพวก yuppies ในปลายทศวรรษที่ 1970 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษามหาวิยาลัยในวัย 20 ต้น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเสริมรูปลักษณ์ภายนอก นิยมใช้สินค้าแบรนด์เนม ขับรถยนต์ราคาแพง นิยมทำงานพิเศษที่สบาย ๆ ใช้เวลาน้อยแต่ได้เงินง่าย เช่นการถ่ายแบบและงานโฆษณา คนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่คล้ายกับ Otaku ตรงที่จะบ้าคลั่งในเรื่องแฟชั่น ที่จะต้องคอยติดตามให้ทันสมัยอยู่เสมอ อาจเรียกว่าเป็นพวก Fashion Otaku, Brand-name syndrome หรือ M(e)-Generation

อาจกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นมาของคนประเภทนี้เป็นผลมาจากสภาพสังคมหลังจากประสบความสำเร็จใน การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นเอง คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่ร่ำรวย สะดวกสบาย และปลอดภัย ทำให้มีแนวโน้มที่จะรักความสบายเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่านิยมของคนรุ่นเก่า การมองคนอีกรุ่นด้วยค่านิยมของยุคสมัยที่แตกต่างกันย่อมจะทำให้เกิดความ รู้สึกที่แปลกแยก เหมือนเป็นบุคคลต่างกลุ่มกัน คำศัพท์ว่า Shin-jinrui จึงเกิดขึ้นมาด้วยลักษณะนี้

Moratorium ningen : โอโกโนงิ เคโงะ (Okonogi Keigo) โปรเฟสเซอร์แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มใช้คำนี้กล่าวว่า ลักษณะสภาพจิตของกลุ่ม Moratorium ในทศวรรษที่ 1970 เป็นพื้นฐานของปรากฏการณ์ Otaku ในทศวรรษที่ 1980 กลุ่มคนที่เรียกว่า Moratorium ningen เป็นกลุ่มคนที่ขาดจุดมุ่งหมายในชีวิตและขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ต้องแสวงหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแหล่งอื่น เมื่อชื่นชอบซึ่งใดจึงมีพฤติกรรมที่หลงใหลอย่างคุ้มคลั่ง อันเป็นจุดกำเนิดของ Otaku

เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็น สังคมที่ขาดความอบอุ่น ผู้คนในสังคมมีความสัมพันธ์กันเพียงผิวเผิน ทำให้เกิดความโดดเดี่ยว และจากอัตราการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วซึ่งบังคับให้ทุกคนต้อง ปรับตัวตามให้ทัน โดยอาศัยการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อชนิดต่าง ๆ สื่อมวลชนที่มีอำนาจครอบคลุมสังคมจึงนับว่ามีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจของคน ญี่ปุ่นโดยเฉพาะเยาวชน ทำให้เยาวชนญี่ปุ่นถูกครอบงำด้วยสื่อและตกเป็นทาสของโฆษณาต่าง ๆ โอโกโนงิจึงกล่าวประนามสื่อมวลชนว่ามีส่วนก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้วยการสร้าง โลกที่ลวงตาขึ้นมา

Hikikomori no hito : คำว่า Hikikomori ไม่มีความหมายในแง่บวกเหมือน Otaku อย่างน้อย ๆ คนญี่ปุ่นก็จะไม่รู้สึกภูมิใจเลยถ้าถูกเรียกว่าเป็นพวก Hikikomori ยกเว้นว่าต้องการจะเรียกร้องความสนใจ เพราะนอกจากคำ ๆ นี้จะหมายถึงคนที่เก็บตัวจากสังคมแล้ว ยังหมายถึงคนที่มีแนวโน้มว่าจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและชอบใช้ความรุนแรงอีก ด้วย เมื่อก่อนพวก Otaku เคยถูกเข้าใจว่าเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามต่อ สังคม เนื่องจากทุกคนเคยคิดว่า Otaku เป็นพวกเก็บตัวที่หมกมุ่นอยู่กับหนังสือการ์ตูน อนิเมชั่นและเกมส์ แต่เนื่องจากโลกในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร การเก็บตัวอยู่คนเดียวและท่องโลกทางอินเตอร์เน็ตไม่เป็นสิ่งประหลาดอีกต่อไป Otaku จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นคนปกติ เพียงแต่มีวิถีชีวิตอีกแบบ บางคนยังคิดว่าทันสมัยด้วยซ้ำ ไม่รวมที่ในตอนนี้สังคมญี่ปุ่นได้ตระหนักแล้วว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มี พฤติกรรมก้าวร้าวและเก็บตัวยิ่งกว่า… นั่นก็คือ Hikikomori

Hikikomori no hito เป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใครแม้แต่คนในครอบครัว ชอบอยู่แต่ในห้องของตนเอง (Shut-in) สาเหตุเกิดมาจากผลกระทบของปัญหาสังคมต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจไม่มั่นคง การรังแกในโรงเรียน ขาดความอบอุ่นในครอบครัว การสอบ ฯลฯ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งเกิดปัญหาทางจิต เช่น ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าไม่มีใครต้องการ เก็บกด ซึมเศร้า ก้าวร้าว และมักระบายออกด้วยการทำลายข้าวของ หรือที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ การทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยวิธีการที่รุนแรง

มุราคามิ ริว (Murakami Ryu) นักเขียนนิยายและบทความเห็นว่า Hikikonomi เป็นผลพวงของสภาพสังคมญี่ปุ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากเกิน ไปในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 Hikikomori จึงนับว่าเป็นผลผลิตของสังคมเช่นเดียวกับ Shin-jinrui, Moratorium และ Otaku แต่ถ้าเทียบกันแล้ว Otaku ยังจัดว่าเป็นกลุ่มที่สามารถปรับตัวเป็นสมาชิกของสังคมได้ดีกว่า เพียงแค่ประหลาดไปบ้าง คำว่า Hikikomori จึงถูกนำมาใช้ในความหมายของพวกโรคจิตที่เป็นภัยสังคมแทนที่ Otaku

บท ความจาก http://www.TIMEasia.com เรื่อง "Staying In and Tuning Out" กล่าวว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า Otaku เป็นที่ยอมรับและได้รับความเข้าใจมากขึ้นก็เมื่อเกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า Hikikomori ขึ้นมานั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่า คำว่า Otaku ถูกใช้ในความหมายที่ลื่นไหลพอสมควรในสังคมญี่ปุ่น ดูข้อมูลโดยสรุปได้จาก

1. ทศวรรษที่ 1970 Otaku เป็นคำสรรพนามที่กลุ่มแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนและอนิเมชั่นใช้เรียกหากันและกัน

2. ทศวรรษที่ 1980 เป็นคำนามที่นากาโมริ อากิโอะนำมาใช้เป็นคำจำกัดความถึงกลุ่มแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนและอนิเมชั่นซึ่ง มีลักษณะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

3. ต้นทศวรรษที่ 1990 ยังคงความหมายที่นากาโมริให้คำจำกัดความเอาไว้อยู่ แต่ถูกเน้นย้ำความหมายในแง่ลบ เนื่องมาจากจากคดี Miyazaki

4. ปลายทศวรรษที่ 1990 ถูกใช้ในความหมายที่เบาและกว้างขึ้น ในความหมายของ "คนที่มีความสามารถในการสะสมและเสาะหาข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง" ส่วนภาพพจน์ที่นากาโมริเคยบรรยายเอาไว้ก็ยังคงอยู่ ส่วนความหมายในแง่ลบจากคดีมิยาซากิถูกลดทอนความรุนแรงลง และเกิดคำคุณศัพท์ Otakii ขึ้นมา

5. ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา นักวิชาการและนักวิจารณ์ได้ให้คำจำกัดความต่าง ๆ กัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมองว่า Otaku เป็นผลผลิตของยุคสมัย และมักจะนำมาวิเคราะห์กับคำจำกัดความอื่น ๆ เช่น Moratorium ningen, Hokikomori no hito และ Shin-jinrui เป็นต้น

2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับ Otaku

- Otaku เป็นภัยคุกคามสังคม

ภาพ ลักษณ์ของ Otaku ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ บุคคลที่มืดมน ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่มีใครคบหา น่ารังเกียจ มีอาการป่วยทางจิตและเป็นภัยต่อสังคม แม้ในปัจจุบันความหวาดระแวงใน Otaku เบาบางลงมากแล้ว แต่ภาพลักษณ์นี้ก็ยังคงถูกสื่อมวลชนนำมาใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในนวนิยาย การ์ตูน อนิเมชั่น ละครและเพลง แสดงให้เห็นถึงความแพร่หลายและฝังรากลึกของแนวคิดดังกล่าว

นากาโมริ (Nakamori Akio) เป็นบุคคลแรกที่นำเสนอภาพลักษณ์ในแง่ลบของ Otaku ต่อสังคมโดยบรรยายว่าเป็นพวกเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม สกปรก ไม่มีระเบียบ และไม่มีใครชอบ และแนวคิดนี้ก็ได้กลายมาเป็น Stereotyped ของ Otaku ที่ฝังรากลึกอย่างไม่มีวันลบเลือนได้แม้ในปัจจุบัน

แต่กระนั้นคนส่วน ใหญ่ก็ยังเห็นว่า Otaku เป็นเพียงเงามืดในสังคมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมโดยรวม จวบจนกระทั่งเกิดคดี Miyazaki แนวคิดว่า “Otaku เป็นภัยคุกคามสังคม” ได้รับการโหมประโคมจากสื่อมวลชนทำให้มีความรุนแรงมากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 สื่อมวลชนพากันลงบทความที่แสดงความเห็นว่า “เราไม่สามารถไว้ใจเยาวชนในปัจจุบันได้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง” เช่น

The Shokan Post เคยลงบทความแสดงความคิดเห็นว่า เด็กประถมและมัธยมทุกวันนี้ส่วนมากเป็น Otaku และเป็นกลุ่มคนที่จะทำให้สังคมมัวหมอง

นัก วิจารณ์อย่างโอทสึกะ เอจิ (Otsuka Eiji) กล่าวว่า "มันอาจฟังดูน่ากลัว แต่มีคนอีกกว่าแสนคนที่มีงานอดิเรกเหมือนกับมิสเตอร์ M… พวกเรากำลังประจันหน้าอยู่กับกองทัพฆาตกร"

- Otaku เป็นผลผลิตของสังคม

ดัง ที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หลังจากต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา นักวิชาการและนักวิจารณ์ต่างเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Otaku ต่าง ๆ นานา แต่โดยรวมแล้วเห็นว่า Otaku เป็นหนึ่งในผลผลิตของสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ซึ่งผลผลิตของสังคมยุคหลังสงครามนี้ยังมีอีกมากมาย เช่น Hikikomori no hito และ Shin-jinrui แต่การที่ Otaku ถูกดึงออกมาประนามอย่างร้อนแรงนั้นเนื่องมาจากความต้องการขายข่าวของสื่อมวล ชนนั่นเอง

ยามาซากิ (Yamazaki Koichi) กล่าวว่า Otaku เป็นผลผลิตของลัทธินายทุนและสังคมแบบบริโภคนิยม มีจุดกำเนิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทศวรรษที่ 1970 ด้วยอิทธิพลของสื่อและเทคโนโลยี รวมกับผลจากระบบการศึกษาของญี่ปุ่นทำให้เกิดกลุ่ม Information Fetish กลุ่มนี้ขึ้น ซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำให้สังคมเสื่อมถอย แค่มีพฤติกรรมที่แตกต่าง ยามาซากิเห็นว่า Otaku เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นในญี่ปุ่น

กลาสมัค (Volker Grassmuck) กล่าวว่า Otaku เป็นผลผลิตของสื่อมวลชน และมีพื้นฐานทางจิตใจมาจากพวก Moratorium ningen ในทศวรรษที่ 19 70 เขาเห็นว่าผู้ใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นไม่สามารถทำความเข้าใจกับความคิดของคนรุ่น ใหม่ได้ และไม่สามารถสร้างสังคมที่อบอุ่นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าตัวผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่เกิดในยุคหลังสงครามเองก็ยังไม่ เป็นผู้ใหญ่ทางจิตใจ นั่นคือเป็นพวก Moratorium ทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีแต่เด็ก

คินเซลล่า (Sharon Kinsella) เห็นว่า otaku เป็นสัญลักษณ์แทนสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน สะท้อนความกังวลที่นักวิชาการมีต่อสังคมญี่ปุ่นในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและลัทธิปัจเจกชนนิยมได้หล่อหลอมคนญี่ปุ่น รุ่นใหม่

อาซาบะ มิจิอากิ (Asaba Michiaki) นักวิจารณ์ กล่าวว่า ผลของการถูกแยกจากเพื่อน ๆ ยัดเยียดให้ตั้งใจเรียนเพื่อเตรียมสอบและอยู่แต่ในห้องนอน ทำให้เด็กญี่ปุ่นเติบโตขึ้นมาโดยที่ได้รับข้อมูลและประสบการณ์ทางสังคมจาก สื่อมวลชนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเยาวชนเหล่านี้เองที่เป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมแบบ Otaku

- Otaku เป็นเหยื่อของสื่อมวลชน

โย เนซาวะ โยชิฮิโร (Yonezawa Yoshihiro) นักวิจารณ์การ์ตูนและประธานการจัดงาน Comic Market เห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Miyazaki และ Otaku ของสื่อมวลชนเป็นต้นเหตุของความความหวาดระแวงต่อผลิตผลทางปัญญาที่ไม่มี ลิขสิทธิ์ (หมายถึง การ์ตูน อนิเมชั่นและนิตยสารใต้ดิน) และคำว่า Otaku ถูกนำมาใช้เพื่อดึงคนกลุ่มหนึ่งออกมาจากสังคมและบดขยี้ทิ้งไป ในทางกลับกัน การเปิดกว้างในการตีความคำว่า Otaku ก็ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถที่จะตีความเอาเองได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นพวกหนอนหนังสือ แฟนภาพยนตร์ แฟนเพลงวงร็อค นักวาดการ์ตูนและแฟนอนิเมชั่นต่างก็ถูกเหมารวมกันไปหมด

ลอเรนซ์ (Lawrence Eng) กล่าวว่า ในต้นทศวรรษที่ 1990 สื่อมวลชนทำให้ผู้ชนหวาดกลัวพวก Otaku และพฤติกรรมของพวกเค้า ลงความเห็นว่าเป็นที่มาของปัญหาสังคม สื่อมวลชนจะกล่าวโทษ Otaku ในทุกกรณีที่เป็นปัญหาต่อสังคม ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรม เป็นความเห็นที่เลือกที่รักมักที่ชังและควรมีการแก้ไขความเข้าใจผิด เนื่องจาก Otaku ไม่ใช่คนไม่มีเพื่อนหรือฆาตกรโรคจิต แน่นอนว่า Otaku บางรายอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นแต่ไม่ควรใช้แนวคิดนี้มาตัดสินครอบคลุมไปหมด

- ทุกคนคือ Otaku

ผู้ เขียนบทความหลายคนจากหนังสือ Otaku no tanjou มีความเห็นตรงกันว่า "ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับข่าวสารอย่างประเทศญี่ปุ่นนั้น โดยเฉพาะยุคสมัยที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าถึงขีดสุดแบบนี้ ทุก ๆ คนก็เป็น Otaku ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" เช่น

นากาโมริ อากิโอะ (Nakamori Akio) ผู้เขียนบทความ Boku ga [Otaku] no natsuke oya ni natta jijou เห็นว่า ในอนาคตคู่สามีภรรยาจะเป็น Otaku ทั้งคู่ แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อครอบครัวและการเลี้ยงดูลูกแต่อย่างใด เพราะนี่จะเป็นรูปแบบของครอบครัวคนญี่ปุ่นในอนาคต

อุเอโนะ จิสึโกะ (Ueno Chizuko) ผู้เขียนบทความ Lolicon to Yaoi zoku ni mirai wa aruka !? เห็นว่า เด็กวัยรุ่นที่หมกมุ่นกับการ์ตูนที่มีเนื้อหาในเรื่องเพศนับวันจะเพิ่มจำนวน ขึ้น ตัวเธอเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองเป็น Otaku หรือไม่… แต่ถ้าเธอเป็นคนอื่น ๆ ก็คงเป็น Otaku กันหมด เพราะคนญี่ปุ่นก็ชอบอ่านการ์ตูนเหมือนกันทั้งประเทศ

มาสึยามะ ฮิโรชิ (Masuyama Hiroshi) ผู้เขียนบทความ Kanojo ni KEYBOARD ga tsuite tachi กล่าวว่า "สมัยนี้เราถูกแวดล้อมไปด้วย Otaku" เพราะ Otaku มีอยู่ทั่วไปในสังคม แม้แต่ในที่ทำงานก็อาจมีได้เช่น Computer Otaku

อย่าง ไรก็ตาม ความเห็นของคนกลุ่มนี้อาจจะมีความลำเอียงผสมอยู่บ้างเนื่องจากต่างก็เป็นผู้ ที่อยู่ในสาขาอาชีพที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น Otaku เช่น นักเขียนการ์ตูน นักเขียน นักดนตรี และจุดประสงค์ของการออกหนังสือรวมบทความเล่มนี้ก็เพื่อสร้างเสริมภาพพจน์ที่ ดีให้แก่สังคมของ Otaku

อีกข้อหนึ่งก็คือ Otaku ที่คนเหล่านี้พูดถึงจะมีการตีความที่สับสน เนื่องจากช่วงเวลาที่เขียนบทความอยู่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ซึ่งยังมีความขัดแย้งระหว่างแนวคิดของ Otaku ที่มีอาการหนักและมีปัญหาทางจิตแบบ Miyazaki กับ Otaku ในระดับอ่อน ๆ ที่สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข

บทสรุป

ต้น ทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศที่ร่ำ รวยประเทศหนึ่ง รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจในการพักผ่อนและงานอดิเรกมาก ขึ้น เยาวชนในยุคนั้นจึงเติบโตมาอย่างอิสระและมีเสรีภาพในการเลือกบริโภคจากสื่อ ต่าง ๆ จากสภาพครอบครัวที่พ่อโหมทำแต่งาน ไม่เคยอยู่บ้าน ฝ่ายแม่ก็คอยเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียน โดยแลกกับการตามใจในเรื่องอื่น ๆ และโรงเรียนที่เป็นนรกแห่งการสอบ ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่พากันหลีกหนีเข้าสู่โลกในจินตนาการ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Nijikon Fetchi [Two-Dimensional Fetish] ซึ่งหมายถึง การ์ตูนและอนิเมชั่น

คำว่า Otaku ซึ่งถูกนำมาใช้ในความหมายที่ลื่นไหลไปตามบริบทของสังคมมาตลอด จะไม่มีทางเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างขึ้นมาได้เลย ถ้าสื่อมวลชนไม่นำมาใช้ประโคมข่าวในคดี Miyazaki, Aum Shinrikyo และคดีอื่น ๆ หากแต่ความตื่นตระหนกที่สังคมมีต่อเรื่องของ Otaku ก็แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่นักวิชาการทางสังคมมีต่อสังคมญี่ปุ่นใน ช่วงเวลานั้น ในขณะที่สื่อมวลชนกลับให้ความสำคัญต่อความแตกแยกในสังคมน้อยกว่าที่ควร

ตั้งแต่ ทศวรรษที่ 1970 นักวิชาการทางสังคมของญี่ปุ่นต่างวิตกกังวลถึงการเสื่อมสลายของสังคมแบบ เครือญาติที่มาพร้อมกับความเจริญของลัทธิปัจเจกชนนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากวัฒนธรรมแบบปัจเจกที่คนรุ่นใหม่สร้างขึ้นล้วนบ่งบอกถึงการปฏิเสธ ที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม ปฏิเสธหน้าที่ที่มีต่อครอบครัว บริษัทและประเทศชาติตามที่คนรุ่นเก่าเคยยึดถือมา

ในปลายทศวรรษที่ 1980-1990 Subculture ต่าง ๆ พากันผุดขึ้นมาในสังคมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยด้วยเทคโนโลยีทางข้อมูล ข่าวสารที่ก้าวหน้า เยาวชนต่างซึมซับเอา Subculture เข้าไปจนมีพฤติกรรมที่แปลกแยกไปจากความคาดหวังของสังคม ก่อให้เกิดความสับสนในองค์กรทางสังคมตามมา

แต่การที่จะนำเอาการ์ตูน อนิเมชั่น Otaku ศาสนา และอาชญากรรมมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันนั้นควรจะมีหลักการรองรับที่เพียงพอ แน่นอนว่าการที่คนญี่ปุ่นตื่นตัวกับเรื่องของ Otaku แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทที่การ์ตูนและอนิเมชั่นมีต่อคนหมู่มาก ซึ่งหากเป็นในสังคมอื่น เราอาจจะโทษไปที่ภาพยนตร์ นวนิยายหรือดนตรี ดังที่ดนตรีร็อค แอนด์ โรลและโทรทัศน์เคยถูกประนามว่าเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายศีลธรรมอันดีงามและส่ง อิทธิพลในทางลบให้แก่เยาวชนในอเมริกามาแล้ว

การ์ตูนและอนิเมชั่นใน ญี่ปุ่นก็เช่นกัน เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการ์ตูนและอนิเมชั่นที่เข้า ถึงคนทุกเพศทุกวัยในสังคม ทำให้สามารถที่จะถูกกล่าวโทษว่าเป็นโรคร้ายของสังคมได้อย่างง่ายดาย และในความหมายนั้น Otaku ก็นับว่าเป็นผลผลิตของสังคมที่บริโภคการ์ตูนมากเกินไปนั่นเอง

บทความของเพื่อนคุณkeiji ในคลาส Japan Studies ที่มหาวิทยาลัย ขอถือโอกาสลงWeblogไปด้วยเลยนะครับ

ปล.ขอขอบคุณบล๊อก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=spiral&month=26-12-2005&group=5&gblog=15
และคุณ spiralhead ต้องขอขอบคุณที่มีบทความดีๆมากๆเลยขอรับขอขอบคุณมากๆเลยขอรับ^__^