ผู้ช่วยฝ่ายผลิตของ Madhouse เผยในหนึ่งเดือนต้องทำงานถึง 393 ชม. และเรียกร้องเงินชดเชยมูลค่า 3 ล้านเยน
เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาผู้ช่วยฝ่ายผลิตของสตูดิโอ Madhouse ได้เข้าร้องเรียนต่อสหภาพแรงงานและ ได้เริ่มกระบวนการเจรจาต่อรองกับทางสตูดิโอ โดยผู้ช่วยที่ไม่ระบุนามคนนี้ได้ทำการเรียกร้องการชดเชยในส่วนที่เขาทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้รับการจ่ายค่าแรง รวมถึงต้องการการขอโทษจากการถูกกดขี่ทางอำนาจหลากหลายทาง ทาง Bungei Shunju Online ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ผู้ช่วยคนดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาลงลึกถึงสถานะภาพในองค์กรที่ทำให้เขาต้องออกมากระทำการเช่นนี้
โดยเขาได้อธิบายว่า “ในช่วงเวลาเร่งรีบ ผมมักจะต้องทำงานถึง 393 ชั่วโมงต่อเดือน” โดยกฎหมายของญี่ปุ่นนั้นอนุญาตให้สามารทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งชั่งโมงทำงานของเขาถือว่าเกินที่กฎหมายกำหนดไว้เยอะมากเลยทีเดียว
และเขายังได้มีการพูดถึงรายละเอียดสถานการณ์ที่ทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาลจากการทำงานมากเกินไปไว้ดังนี้ “ผมได้ทำงานในส่วนของตอนที่เหลือของซีรีส์ ซึ่งสตอรี่บอร์ดของเรื่องเสร็จก่อนกำหนดการฉายแค่เพียง 1 เดือน ทำให้เราต้องบีบตารางการทำงานจากเดิมสามเดือนเหลือเพียงหนึ่งเดือน และในช่วงเวลานั้นผมถึงขนาดต้องนอนที่สตูดิโอต่อเนื่องสามวัน และกลับไปบ้านเพียงเพื่ออาบน้ำเท่านั้น”
“มันเป็นช่วงเวลาประมาณ 7 โมงเช้า หลังจากที่ผมกลับมาถึงอพาร์ทเมนท์ในวันหนึ่งด้วยความหิวโซ เหน็ดเหนื่อย และเครียดในทุกๆ เรื่องที่ผมต้องทำ ส่งผลให้ผมล้มลงกลางถนน ตำรวจที่บางอื่นขี่จักรยานผ่านมาพอดีมาพบผมและช่วยเรียกรถพยาบาลมาให้ เมื่อผมตื่นขึ้นมาก็รู้สึกเหมือนว่า “โอ้ ทำงานมากไปเหรอ” ผมได้รับการฉีดยาเล็กน้อย และจ่ายค่ารถพยาบาลไป 10,000 เยน ก่อนจะกลับบ้านทั้งอย่างนั้น”
หลังจากที่เขาแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นไปทางสตูดิโอ ทางสตูดิโอก็บอกให้เขาหยุดพักได้หนึ่งใน แต่เพราะนั้นเป็นช่วงเวลา 1 อาทิตย์ก่อนกำหนดการฉายทำให้เขาต้องกลับไปทำงานในวันถัดมา อย่างไรก็ตามเขานึกได้ว่าผู้กำกับอนิเมชั่นยังคงขอให้มีการวาดให้จนถึงท้ายที่สุดเพื่อให้งานออกมาเป็นไปตามมาตรฐาน และเมื่องานเสร็จเรียบร้อยในระดับที่ผ่านมาตรฐานแบบคาบเส้น แลกกับเวลานอนของทุกคน ทางเบื้องบนจึงสรุปว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีและไม่มีเรื่องอะไรถูกการรายงานหรือแก้ไข
หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้นเขาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Psychogenic Reaction และหลังจากได้รับการรักษาอยู่สองเดือนในขณะที่ยังคงทำงานไปด้วยอาการของเขาจึงฟื้นตัว และได้เข้าร้องเรียนกับ สหภาพ Black Company สหภาพแรงงานที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและสนับสนุนแรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
Mayo Clinic ได้อธิบายโรค Psychogenic Reaction หรือเรียกอีกอย่างว่า Functional Neurologic Disorder/ Conversion Disorder ไว้ว่าเป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาท “ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิธีทางประสาทวิทยา หรืออาการทางแพทย์อื่นๆ ได้ แต่ถึงแบบนั้นกลุ่มอาการนี้ก็มีอยู่จริง และที่มีผลต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมากทั้งทางจิตใจและการทำงานของร่างกาย” โดยเดิมโรคนี้เคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อโรคว่า “ฮิสทีเรีย” ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดิน กลืน มองเห็น หรือได้ยินได้ชั่วเวลาหนึ่ง โดยความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่สิ่งที่เหมือนกันคือผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการจะไม่สามารถควบคุมตนเองได้
โดยในระหว่างนี้เขาได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยเป็นค่าแรงการทำงานล่วงเวลาไว้ถึงสามล้านเยน โดยตามรายงานของ Sakakura Shohei นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของแรงงานได้บอกไว้ว่าทาง Madhouse ได้มีการกำหนดเพดานของการจ่ายค่าล่วงเวลาไว้ที่ 50 ชั่วโมง “ถ้าคุณทำงานล่วงเวลามากกว่า 50 ชั่วโมงคุณก็จะไม่ได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกฏข้อนี้ไม่ได้มีการอธิบายให้แก่ลูกจ้างคนนี้ก่อนที่เขาจะเข้าทำงานแต่อย่างใด หลังจากที่คำนวนดูแล้ว เราเชื่อว่าเขามีสิทธิที่จะได้รับการจ่ายค่าแรงล่วงเวลามูลค่าสามล้านเยน”
ผู้ช่วยคนนี้ได้กล่าอีกว่าเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นกับเขานี้ไม่ได้มีแค่ที่เพียงที่ Madhouse เท่านั้น “สำหรับงานผู้ช่วยฝ่ายผลิตนั้น ยิ่งในการทำงานกับซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์แล้วมักจะต้องทำงานมากกว่า 100-200 ชั่วโมงต่อเดือน ยิ่งกับสตูดิโอรับเหมานั้นพวกเขายังไม่มีแม้แต่บัตรลงเวลาเพื่อบันทึกเวลาการทำงานของลูกจ้างด้วยซ้ำ”
เขายังได้กล่าวอีกว่าการที่เขาออกมาเรียกร้องแบบนี้ เขาก็เป็นกังวลเหมือนกันว่าเขาจะสูญเสียโอกาสในการได้เลื่อนตำแหน่งไป แต่เขาก็คิดว่าการกระทำในครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็น โดยเมื่อปี 2010 ก็เคยเกิดเหตุผู้ช่วยฝ่ายผลิตที่ทำงานให้กับสตูดิโอ A-1 Pictures ฆ่าตัวตายมาแล้ว ซึ่งสำนักงานมาตรฐานแรงงานชินจูกุก็ได้ระบุว่าสาเหตุมาจากการทำงานมากเกินไป ผู้ช่วยฝ่ายผลิตของ Madhouse คนนี้จึงหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาตกรรมแบบนั้นขึ้นอีก
“ผู้คนมักถามผมว่ากำลังพยายามจะทำลาย Madhouse รึเปล่า แต่ว่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ผมแค่ต้องการสภาพในการทำงานที่ดีขึ้นเท่านั้น”
Studio Madhouse ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1972 โดยอดีตอนิเมเตอร์ของ Mushi Pro ได้แก่ Maruyama Masao, Dezaki Osamu, Rintaro และ Kawajiri Yoshiaki โดย Maruyama ได้ออกจากบริษัทไปตั้งแต่ปี 2011เพื่อก่อตั้ง MAPPA โดย Madhouse เป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานมากมายไม่ว่าจะเป็น Card Captor Sakura, Death Note และซีซั่นแรกของ One-Punch Man
Source: Bungei Shunju Online ,ANN via Akibatan