ปลาปักเป้า หรือ Puffer fish เป็นปลาชนิดหนึ่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำให้เป็นสัตว์ตระกูลมีพิษ ซึ่งพิษของปลาปักเป้าเกิดจากการกินอาหารตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืช หอยเม่น หอยทะเล ที่มีเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการสะสมพิษขึ้นตามอวัยยะต่างๆ ในตัวปลาปักเป้า
เนื้อของปลาปักเป้านั้นมีลักษณะคล้ายกับเนื้อไก่ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลาเนื้อไก่" ปลาปักเป้าถูกยกให้เป็นเมนูโอชะยอดนิยมอีกจานหนึ่งของคนญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงมาก ซึ่งในหมู่คนญี่ปุ่นนั้น บริโภคเนื้อปลาปักเป้ากันอย่างแพร่หลายและยาวนาน
ปลาปักเป้าหรือ "ฟุกุ" (Fugu) ในภาษาญี่ปุ่น นิยมนำมาปรุงเป็นเมนูเด็ดมีเพียง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โทระ ฟุกุ (Tora Fugu) ซาบะ ฟุกุ (Saba Fugu) และคาราซึ (Karasu) โดยเมนูอันดับ 1 ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะสั่งกันเมื่อไปถึงร้านอาหาร ก็คือ ชาชิมิหรือปลาดิบแล่เป็นชิ้นบางเฉียบ เสิร์ฟกับซอสญี่ปุ่นที่ออกรสเปรี้ยวนิดๆ พริกญี่ปุ่นบดละเอียดและต้นหอมซอย หากชอบรสเปรี้ยวหน่อยอาจจะบีบมะนาวลงไปด้วยก็ได้ ว่ากันว่าช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อย แต่เป็นรสชาติที่เสี่ยงต่อชีวิตเพราะพิษในตัวปลา
พิษในตัวปลาปักเป้าเรียกว่า "เตโตรโดทอกซิน" ส่วนใหญ่ จะอยู่บริเวณผิวหนัง ลำไส้ ไข่ ตับ น้ำดี กระเพาะ และตา รวมทั้งอาจมีอยู่ในเนื้อปลาด้วยเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอยู่เลย อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูวางไข่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ปลาปักเป้ามีพิษร้ายกาจมากที่สุด ซึ่งเมื่อใครได้รับประทานสารพิษชนิดนี้เข้าไป ก็จะมีอาการชาที่ริมฝีปากและลิ้น จากนั้นก็อาเจียน กระสับกระส่าย แขนและขาอ่อนแรง ผิวหนังจะมีสีเขียวคล้ำ และหมดสติในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา เมื่อปี 2485 มีผู้สกัด สารเตโตรโดทอกซินจากปลาปักเป้า และพบว่า พิษนี้ทนความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศา ถึง 10 นาที ผู้ที่ได้รับพิษจากปลาปักเป้า จะมีอาการภายหลังจากได้รับพิษเพียง 10 นาที หรืออย่างช้าไม่เกิน 4 ชั่วโมง
พ่อครัวชาวญี่ปุ่นที่จะสามารถปรุงเมนูปลาปักเป้าได้ ต้องผ่านการฝึกหัดเฉพาะทางมาอย่างช่ำชองจากพ่อครัวที่มีประสบการณ์ และต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรองจากแต่ละเมืองในญี่ปุ่นด้วย เพื่อแสดงว่ามีความรู้เกี่ยวกับชนิดของปลาปักเป้าที่เป็นพิษ และรู้วิธีชำแหละปลาปักเป้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยต้องใช้เวลาฝึกหัดและสอบเพื่อรับประศนียบัตรราว 3 ปี จึงจะมีสิทธิเปิดร้านและแสดงฝีมือการปรุงปลาปักเป้าได้
สำหรับผู้บริโภคชาวไทย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด เพราะยังไม่มีพ่อครัวไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแล่เนื้อปลาปักเป้า
ปลาที่น่าสงสัยว่าเป็นปลาปักเป้า ได้แก่ ปลาที่เนื้อขาวคล้ายเนื้อไก่ ไม่มีหนัง ราคาถูก ประมาณ 30-70 บาทต่อกิโลกรัม หรือปลาที่ใช้ชื่อว่า ปลาเนื้อไก่ ปลาช่อนทะเล ก็ไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะพิษจากปลาปักเป้าไม่สามารถทำลาได้ด้วยความร้อน ดังนั้นแม้ผ่านการต้ม ทอด ย่าง ก็ยังไม่สามารถรับประทานได้ เมื่อไปซื้อปลา หากไม่เห็นลักษณะของตัวปลา หรือเป็นเนื้อปลาที่ไม่มีหนังให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีโอกาสเป็นปลาปักเป้า
ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยง ที่มักนิยมนำปลาปักเป้ามาประกอบ ได้แก่ ไข่ปลาทอดหรือต้ม ปลาทอด ปลาปิ้ง ปลาย่าง ต้มยำปลา ก๋วยเตี๋ยวปลา ต้มยำไข่ปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น
วิธีสังเกตเนื้อปลาปักเป้าอย่างง่ายๆ คือ เนื้อปลาปักเป้าเมื่อ แล่แล้วจะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา สีออกขาวอมชมพู มัดกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน ด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะมีพังผืดติดอยู่ เมื่อเปรียบเทียบเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลากะพง พบว่า เนื้อปลากะพงจะมีลักษณะเป็นชิ้นที่บางกว่า มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กกว่า ทำให้มองเห็นเป็นริ้วถี่ๆ และด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะเห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน (ไม่มีพังผืดติด) ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลาชนิดอื่น
ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าได้รับจากปลาปักเป้าให้รีบไปพบแพทย์ทันที
แม้องค์การอาหารและยา(อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุขจะมี มาตรการลงโทษผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายปลาปักเป้าอย่างเด็ดขาด แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนแล่เนื้อปลาปักเป้าขายกันเป็นว่าเล่น มีรายงานระบุว่าที่แม่กลองมีโรงงานแล่เนื้อปลาขนาดใหญ่ที่สามารถแล่เนื้อปลา ปักเป้าได้วันละ 1 ตัน
Credit : sanook
เมนูจากปักเป้า อาหารอันตรายที่สุดในโลก
[IMG]