แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Nook747 เมื่อ 2014-5-26 22:42
ตอนก่อนหน้านี้ มหากาพย์รวมชาติมองโกล
สวัสดีครับ ทุกท่าน หลังจากที่เจงกิสข่าน(เตมูจิน)ได้รวบรวมแผ่นดินมองโกลได้แล้ว คราวนี้ ศัตรู Number 1 ของมองโกล จะได้ลิ้มลองรสชาติของกีบม้าจากพวกมองโกล และนี่ ก็เป็นจุดจบของของมหาจักวรรดิ์จิน ซึ่งตอนนี้เราจะมีแค่ 6 ตอนนะครับ เชิญอ่านได้นะครับ....(ป.ล. ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ผมจะไม่ใส่ Credit แหล่งที่มานะครับ เพราะ Greater Mongol Empire Series ทุกตอนนั้นเอามาจากเพจ Penedge หมด จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ด้วย)
ตอนที่ 1:เตรียมพร้อมทำศึก
แม้ว่าเจงกิสข่านจะพิชิตชนเผ่าคู่แข่งและวางระเบียบให้กับอาณาจักรมองโกลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พระองค์ก็รู้ดีว่าการจะรักษาความมั่นคงแห่งอาณาจักรไว้ได้นั้น มิใช่การรักษาสันติภาพเช่นนี้เสมอไป แต่มันคือการประกาศสงครามเท่านั้นล่ะครับ
ผมขอให้ทุกท่านทำใจไว้อย่างหนึ่งว่า การแสวงความมั่งคั่งที่ได้ผลมากที่สุดในโลกยุคโบราณนั้นมิใช่เพียงแค่การเปิดเส้นทางการค้าเท่านั้น หากแต่คือการประกาศสงครามกับแว่นแคว้นข้างเคียงด้วยนั่นเอง เพราะมิใช่เพียงแค่จะเป็นโอกาสในการเข้าโจมตีและยึดครองทรัพยากรอันมีค่าจากดินแดนอื่นๆเข้ามาเท่านั้น มันยังเป็นการลดภาระความตึงเครียดทางการเมืองอีกทางหนึ่งด้วย
เพราะถ้าหากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบสุขนานเกินไป นอกจากจะเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถทางการรบของเหล่าขุนศึกและกองทัพแล้ว มันยังเป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้เหล่าขุนศึกเกิดอาการหงุดหงิดงุ่นง่านอยากจะแย่งชิงอำนาจขึ้นมาเสียเองนั่นแหละ
ประมาณว่าท่านเลี้ยงเสือเอาไว้ แต่ท่านทำให้เสือหิวขึ้นมา งานนี้ก็ซวยน่ะสิครับ
ดังนั้น บรรดารัฐมหาอำนาจในอดีตไม่ว่าจะเป็นจีน กรีก โรมัน หรือเปอร์เซียก็ล้วนแสวงหาความมั่งคั่งและระบายความตึงเครียดในราชสำนักของตนด้วยการประกาศสงครามขยายดินแดนอยู่เรื่อยๆนั่นเอง และโดยเฉพาะกับมหาอาณาจักรมองโกลที่เป็นดินแดนของชนเผ่านักรบโดยแท้แบบนี้แล้ว การรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งนั้นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัวทำสงครามครั้งใหม่ในภายภาคหน้านั้นนั่นแหละครับ
อย่างไรก็ตาม เจงกิสข่านก็มิได้เร่งรีบเปิดศึกขยายดินแดนในทันทีทันใดหรอกครับ เพราะจอมข่านทรงล่วงรู้ดีว่าบรรดาดินแดนรอบนอกของทุ่งหญ้ามองโกลนั้นล้วนแต่เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจเสียทั้งสิ้นทีเดียว
หากมองไปทางตะวันตกก็มีอาณาจักรเผ่าทังกุตหรือที่ชาวจีนเรียกว่า "เผ่าเซียง" คือ "อาณาจักรเซี่ยตะวันตก" - ซีเซี่ย - อันเป็นชนเผ่าเผ่าเร่ร่อนที่เป็นญาติใกล้ชิดกับชนเผ่าถูฟาน (ทิเบต) ซึ่งได้สร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมาในช่วงปลายสมัยห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร และกลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือที่เคยเป็นหนึ่งในภัยคุกคามราชวงศ์ซ่งของชาวจีนเมื่อศตวรรษก่อนนั้น
ส่วนมหาอาณาจักรที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลทรายโกบีก็เป็นที่ตั้งของจักรวรรดิที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกตะวันออก ณ เวลานั้น - จักรวรรดิจิน - หรือที่เราอาจจะคุ้นเคยจากเรื่องมังกรหยกว่า "กิมก๊ก" - ผู้เป็นทั้งศัตรูและมิตรของเผ่ามองโกลมาหลายชั่วอายุคนที่ผมได้เคยเล่าถึงไปแล้วนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จอมข่านจะต้องวางแผนในทำสงครามครั้งนี้อย่างรัดกุม โดยเจงกิสข่านได้วางแผนสำหรับการทำสงครามระยะยาวดังนี้
๑. ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักต้าจินของพวกหนี่เจิน ด้วยการแสดงออกว่า แม้ตนจะขึ้นครองบัลลังก์เป็นเจงกิสข่านแล้ว แต่ก็ยังคงจงรักภักดีต่อราชสำนักดุจเดิม ทั้งที่ในความเป็นจริง เจงกิสข่านเริ่มสะสมกำลังไพร่พลและมีการส่งจารยุทธไปทั่วทั้งแนวพรมแดนระหว่างอาณาจักรมองโกลและจักรวรรดิจินแล้วล่ะครับ โดยจารชนของเผ่ามองโกลนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นกองคาราวานพ่อค้าและแม้แต่กองทหารที่เจงกิสข่านส่งมอบให้ไปเป็น "กองกำลังอาสาพิทักษ์ชายแดน" ให้กับราชวงศ์จินนั่นล่ะครับ - เนียนไหมล่ะ?
อ่ะ นี่คิดว่าเนียนแล้วใช่ไหมครับ ยังมีเนียนยิ่งกว่านี้อีกนะ - จะบอกให้
๒.ส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเผ่านอกชายขอบอาณาจักรมองโกลอย่างเผ่าอุยเกอร์ ออยรัต อองกุด และคาร์ลุกเพื่อรวมเข้ามาเป็นประเทศราชแบบนิ่มนวลๆ ไม่ต้องชวนกันรบให้เมื่อยมือเมื่อยแรงแต่อย่างใด
สำหรับการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเผ่านี้มักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไปในประวัติศาสตร์มองโกลเสมอๆ เพราะนักวิชาการส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การทำสงครามเป็นหลักใหญ่ จนลืมไปว่าพวกมองโกลนั้นก็มีกลยุทธในการรวมแผ่นดินรอบด้านแบบละมุนละม่อมเหมือนกันครับ ซึ่งวิธีการนั้นก็คือ "การแต่งงาน" ระหว่างสองราชวงศ์นั่นเอง
หากกล่าวถึงการแต่งงานแล้ว ผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะคิดไปว่าเจงกิสข่านคงจะบังคับให้ข่านแห่งชนเผ่าต่างๆส่งลูกสาวมาแต่งงานกับตนเอง หรือไม่ก็ให้ดองกับพระโอรสทั้งสี่เพื่ออ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของเผ่าต่างๆอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ?
แน่ล่ะครับ ทุกท่าน "คิดผิด" ครับ เพราะเจงกิสข่านกลับส่ง "พระธิดา" ไปแต่งงานกะเขาต่างหาก?!
ในทีนี้หลายๆท่านก็คงจะงงๆหรือแปลกใจขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วเจงกิสข่านมีลูกสาวกับเขาด้วยหรือ?
คำตอบคือมีแน่นอนครับ แต่เราไม่ทราบชื่อและจำนวนที่แน่นอนของเหล่าเจ้าหญิงมองโกลนี้ และยังไม่อาจทราบแม้เพียงว่าเหล่าองค์หญิงนี้เป็นพระธิดาที่ประสูติกับพระชายาหรือมเหสีองค์ใดของเจงกิสข่านอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเถอะครับ การเจริญสัมพันธไมตรีของเจงกิสข่านในคราวนั้นนับว่าอาจจะแปลกไปจากความรับรู้ของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะตามความรับรู้ของคนทั่วไปแล้ว เมืองน้อยต้องส่งลูกสาวไปให้เมืองใหญ่ แต่เจงกิสข่านกลับส่งลูกสาวตัวเองไปให้เมืองน้อยเหล่านั้นแทน โดยปรากฏรายพระนามดังต่อไปนี้คือ
เจ้าหญิงอัล-อัลตุนแต่งเข้ากับราชวงศ์อุยเกอร์ - ชนเผ่าเร่ร่อนที่ทรงอำนาจแห่งทะเลทรายทาคลามาคาน -
เจ้าหญิงอลาไกแต่งเข้ากับเผ่าอองกุดแห่งที่ราบเหลียวตง - ชนเผ่าเร่ร่อนที่ครอบครองพรมแดนจักรวรรดิจินและอาณาจักรโครยอแห่งเกาหลี -
เจ้าหญิงเชเชชิเยนกับเผ่าออตรัตแห่งที่ราบสูงป่าสนในไซบีเรีย
และเจ้าหญิงโตไลกับเผ่าคาร์ลุกแห่งที่ราบสูงเขาเทียนชาน
ฟังดูเหมือนเจงกิสข่านจะเพี้ยนไปหรือเปล่า?
ไม่เพี้ยนหรอกครับ แถมออกจะ "ฉลาดร้ายลึก" เลยทีเดียว เพราะตามธรรมเนียมเผ่ามองโกลมีอยู่ว่า หากฝ่ายชายจะแต่งเข้ากับบ้านไหนแล้ว นอกจากจะต้องไปฝากเนื้อฝากตัวกับครอบครัวฝ่ายหญิงแล้ว หากฝ่้ายชายต้องออกไปรบ ฝ่ายหญิงจะต้องเป็น "ผู้ดูแลกระโจม" แทน และจะถือว่านางมีอำนาจสิทธิ์ขาดทุกประการ - แม้แต่กับญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายเองก็ตาม
ฉันใดก็ฉันนั้่นล่ะครับ เพราะถ้าเจ้าชายในเครือประเทศราชได้แต่งเข้ากับเจ้าหญิงมองโกลแล้ว นอกจากฝ่ายชายจะต้องนำกองทัพของตนเข้าร่วมกับราชสำนักในทันทีแล้ว ราชสำนักประเทศราชเหล่านั้นจะต้องยอมให้พระมเหสีหรือลูกสะใภ้ชาวมองโกลเป็น "ผู้ดูแลกระโจม" แทน หรือกล่าวคือ พระนางจะกลายเป็น "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" เหนือดินแดนเหล่านั้นทันที!
เป็นไงล่ะครับ ฉลาดร้ายไหมล่ะครับท่านผู้อ่าน!
เพราะเหตุนี้ เจงกิสข่านจึงสามารถทำศึกขยายดินแดนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะว่ามีเครือข่ายในการสนับสนุนกำลังการรบและเสบียงจากเหล่าประเทศราชที่บรรดาพระธิดาของพระองค์เข้าไปปกครองในฐานะ "องค์ราชินี" นี่ล่ะครับ
ดังนั้น หลังจากเตรียมการมาเป็นเวลานานกว่า ๑ ปี เจงกิสข่านก็ดำริว่าคงถึงแก่เวลาแล้วที่กองทัพมองโกลจะได้ออกศึกเพื่อพิสูจน์กำลังอำนาจในการรบของตน โดยในปี ค.ศ. ๑๒๐๗ พระองค์ได้นำกองทัพม้า ๑๐๐,๐๐๐ นายบุกโจมตีอาณาจักรซีเซี่ยแบบสายฟ้าแลบ โดยมีแม่ทัพสุโบไตตาเดียวและแม่ทัพเกาทัณฑ์ไร้พ่ายเจอเปเป็นผู้นำทัพ ซึ่งแม้ว่ากองทัพมองโกลจะต้องเผชิญกับแนวปราการป้องกันตามแนวชายแดนของอาณาจักรซีเซี่ยอยู่บ้าง แต่กองทัพมองโกลก็สามารถเอาชนะมาได้อย่างไม่เป็นปัญหา เพราะว่ากองทัพซีเซี่ยล้วนแต่อ่อนแอมานานแล้วนั่นล่ะครับ
สรุปว่า ศึกครั้งนี้จึงเข้าทำนอง “หนังม้วนเดียวจบ” เพราะกองทัพซีเซี่ยถูกทัพมองโกลตีแตกพ่ายในคราวเดียวอย่างไม่ยากเย็น จักรพรรดิสิงจงแห่งซีเซี่ยจึงยอมจำนนศิโรราบเป็นประเทศราชของอาณาจักรมองโกลโดยดุษฎี ไม่ต้องต่อเวลาโกลเด้นโกลด์แต่อย่างใด - ฮา
หลังจากพิชิตซีเซี่ยได้สำเร็จสมตามความตั้งใจแล้ว ในปีรุ่งขึ้นก็มีเหตุเร่งด่วนเข้ามาว่า จักรพรรดิจินจางจงสวรรคตลงอย่างกะทันหันแล้ว และจักรพรรดิองค์ใหม่คือ "จินเว่ยเจ้าหวาง" ขึ้นครองบัลลังก์ เจงกิสข่านจึงถือโอกาสประกาศตนเป็นอิสระจากราชสำนักต้าจินในทันที โดยพระองค์ได้สบถและถ่มน้ำลายใส่หน้าทูตที่เดินทางมาแจ้งการผลัดเปลี่ยนบัลลังก์ในครั้งนี้ว่า
"น้ำหน้าอย่างเว่ยเจ้าหวางสมควรเป็นจักรพรรดิฤๅ? เจ้าจงบอกไปแก่พระองค์ว่านับแต่นี้ไป แผ่นดินมองโกลจะไม่มีวันเป็นมิตรกับราชสำนักจินอีกต่อไป! "
ดังนั้น มหาสงครามครั้งใหญ่กำลังจะปะทุขึ้นในไม่ช้านี้แล้วล่ะครับ!
(Greater Mongol Empire Series)จุดจบแห่งจักรวรรดิ์จิน