แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Lifejame เมื่อ 2012-3-21 16:58
ดาวตกเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เรามีโอกาสเห็นดาวตกได้ทุกคืน แสงของดาวตกเกิดจากการที่สะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก หากสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก แสงจันทร์ และแสงไฟฟ้ารบกวน โดยทั่วไปสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว 6 ดวงต่อชั่วโมง ดาวตกที่สว่างมาก ๆ เรียกว่าลูกไฟ (fireball)
เส้นทางที่สะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนที่เป็นสายไปในแนวเดียวกันในอวกาศเรียกว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) แรงโน้มถ่วงของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเคราะห์ ส่งผลรบกวนต่อธารสะเก็ดดาว เมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว ซึ่งเกิดขึ้นหลายช่วงของปี จะทำให้เห็นดาวตกหลายดวงดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า (เป็นมุมมองในเชิงทัศนมิติ ลักษณะเดียวกับที่เราเห็นรางรถไฟบรรจบกันที่ขอบฟ้า) เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าฝนดาวตก (meteor shower) ในรอบปีมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ยังก็เรียกว่าฝนดาวตก
ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เรียกจุดนั้นว่าจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) ชี่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวที่อยู่บริเวณจุดกระจายนี้ แสงจันทร์และแสงจากตัวเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตดาวตก จึงควรหาสถานที่ที่ฟ้ามืด ยิ่งฟ้ามืดก็จะยิ่งมีโอกาสเห็นดาวตกมากขึ้น
การสังเกตดาวตกด้วยตาเปล่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใด ๆ เพียงแต่ต้องเตรียมตัวรับกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ก่อนสังเกตดาวตกต้องรอให้ดวงตาของเราชินกับความมืดเสียก่อนซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที นอกจากการสังเกตด้วยตาเปล่า นักดาราศาสตร์ยังใช้กล้องโทรทรรศน์ กล้องสองตา การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และการสังเกตด้วยคลื่นวิทยุ แม้ว่าขอบเขตภาพของกล้องโทรทรรศน์และกล้องสองตาจะแคบกว่าการดูด้วยตาเปล่า แต่ก็ช่วยให้มองเห็นดาวตกที่จาง ๆ ได้ และมักใช้หาตำแหน่งที่แม่นยำของจุดกระจาย
ภาพถ่ายดาวตกช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่แม่นยำของมันได้ เลนส์ปกติมีศักยภาพในการจับภาพดาวตกที่สว่างกว่าโชติมาตร 1 ภาพดาวตกดวงเดียวกันจากจุดสังเกตการณ์หลายจุด สามารถใช้คำนวณหาเส้นทางการโคจรของสะเก็ดดาวในอวกาศ การบันทึกภาพดาวตกด้วยกล้องถ่ายวิดีโอก็ใช้ในการศึกษาดาวตกด้วยเช่นกัน แต่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพิ่มความเข้มของแสง
ควันค้าง (persistent train) คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนควันลอยค้างบนท้องฟ้าตรงจุดที่ดาวตกหายวับไป ศัพท์คำนี้ยังไม่มีการใช้แพร่หลายในภาษาไทย จึงขอเรียกว่าควันค้างตามลักษณะที่ปรากฏไปพลางก่อน ควันค้างเกิดจากการเรืองแสงในบรรยากาศชั้นบน โดยมีดาวตกเป็นตัวการทำให้โมเลกุลในบรรยากาศแตกตัวเป็นไอออน ความเข้มและอายุของควันค้างขึ้นอยู่กับขนาด องค์ประกอบ และความเร็วของดาวตก ลูกไฟซึ่งเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่มักก่อให้เกิดควันค้างอยู่อย่างนั้นนานหลายนาที ก่อนจะเปลี่ยนรูปร่าง จางลง และสลายตัวไปในที่สุด
ฝนดาวตกในปี 2555 | ||||||
ฝนดาวตก | ช่วงที่ตก | คืนที่มีมากที่สุด | เวลาที่เริ่มเห็น (ประมาณ) | อัตราสูงสุด ในภาวะอุดมคติ (ดวง/ชั่วโมง) | อัตราสูงสุด ในประเทศไทย (ดวง/ชั่วโมง) | หมายเหตุ |
28 ธ.ค. - 12 ม.ค. | 3/4 ม.ค. | 02:00 น. | 120 (60-200) | 20 | - | |
16-25 เม.ย. | 21/22 เม.ย. | 22:00 น. | 18 | 10-15 | - | |
19 เม.ย. - 28 พ.ค. | 4/5 พ.ค. | 02:00 น. | 70 (40-85) | 20-30 | แสงจันทร์รบกวน | |
12 ก.ค. - 23 ส.ค. | 28/29/30 ก.ค. | 21:00 น. | 16 | 10 | แสงจันทร์รบกวน ก่อนตี 2 | |
17 ก.ค. - 24 ส.ค. | 12/13 ส.ค. | 22:30 น. | 100 | 40-50 | แสงจันทร์รบกวน หลังตี 2 | |
2 ต.ค. - 7 พ.ย. | 20/21/22 ต.ค. | 22:30 น. | 25 | 20 | แสงจันทร์รบกวน ก่อนเที่ยงคืน | |
6-30 พ.ย. | 16/17/18 พ.ย. | 00:30 น. | 10-20 | 10-15 | - | |
7-17 ธ.ค. | 13/14 ธ.ค. | 20:00 น. | 120 | 90-100 | - |
หมายเหตุ
- ภาวะอุดมคติหมายถึงจุดกระจายฝนดาวตกอยู่ที่จุดเหนือศีรษะและท้องฟ้ามืดจนเห็นดาวได้ถึงโชติมาตร +6.5
- คอลัมน์ "คืนที่มีมากที่สุด" เครื่องหมายทับ (/) ใช้คั่นคืนวันแรกกับเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เช่น 3/4 หมายถึงคืนวันที่ 3 ถึงเช้ามืดวันที่ 4
- ตัวเลขอัตราตกสูงสุดในประเทศไทยคิดผลจากแสงจันทร์รบกวนแล้ว แต่ยังไม่คิดผลจากมลพิษทางแสง การสังเกตดาวตกในเมืองใหญ่จะมีจำนวนดาวตกลดลงจากตัวเลขในตารางนี้หลายเท่า
- ดัดแปลงจากข้อมูลฝนดาวตกโดยองค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organization - IMO) และ Meteor Shower Flux Estimator โดย Peter Jenniskens
ฝนดาวตกควอดแดรนต์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม-12 มกราคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในช่วงเช้ามืดวันพุธที่ 4 มกราคม 2555 เป็นช่วงครึ่งหลังของข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างค่อนดวงตกลับขอบฟ้าไปตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 ซึ่งเป็นเวลาที่จุดกระจายฝนดาวตกเริ่มขึ้นมาที่ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ฝนดาวตกควอดแดรนต์มีชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนต์ (Quadrans Muralis) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเก่า ปัจจุบันไม่มีแล้ว จุดกระจายดาวตกอยู่บริเวณตรงกลางระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส คนเลี้ยงสัตว์ และมังกร ฝนดาวตกควอดแดรนต์มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 3-4 มกราคม ของทุกปี ประเทศที่เห็นฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ดีที่สุดคือประเทศในละติจูดสูง ๆ ของซีกโลกเหนือ
นักดาราศาสตร์ค้นพบฝนดาวตกควอดแดรนต์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่พบว่าวัตถุใดคือต้นกำเนิด จนกระทั่ง ค.ศ. 2003 เมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช 1 (2003 EH1) ซึ่งวงโคจรใกล้เคียงกับดาวตกที่มาจากฝนดาวตกกลุ่มนี้ และยังพบว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนหรือเป็นวัตถุเดียวกับดาวหางซี/1490 วาย 1 (C/1490 Y1) ที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปลาย ค.ศ. 1490
อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติของฝนดาวตกควอดแดรนต์สูงถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง (แปรผันได้ระหว่าง 60-200) แต่มีช่วงเวลาสั้น แสดงว่าธารสะเก็ดดาวค่อนข้างแคบมาก ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 4 มกราคม เวลา 14:20 น. จากเวลานี้ คาดว่าพื้นที่ที่สังเกตฝนดาวตกควอดแดรนต์ได้ดีที่สุดคือแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และด้านตะวันตกสุดของยุโรป ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ตี 2 โดยอัตราตกจะต่ำมากในช่วงแรก หลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เวลาที่น่าจะเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 04:30 - 05:30 น. ภายใต้ฟ้ามืดและไร้เมฆ ใน 1 ชั่วโมงนี้อาจนับได้ราว 20 ดวง
ฝนดาวตกพิณ (Lyrids อักษรย่อ LYR)ฝนดาวตกพิณเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 เมษายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันเสาร์ที่ 21 เมษายน ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2555 ซึ่งตรงกับช่วงจันทร์ดับ
ฝนดาวตกพิณตั้งชื่อตามกลุ่มดาวพิณ (Lyra) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 21-22 เมษายน ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 18 ดวงต่อชั่วโมง (เคยสูงถึง 90 ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2525) ค้นพบเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของฝนดาวตกพิณคือดาวหางแทตเชอร์ (C/1861 G1 Thatcher) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 415 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2404 นักดาราศาสตร์ค้นพบใน 6 ปีต่อมาว่าตำแหน่งที่โลกอยู่ ณ วันที่ 20 เมษายน ของทุกปี เป็นตำแหน่งที่วงโคจรของดาวหางอยู่ห่างจากโลกเพียง 0.002 หน่วยดาราศาสตร์ หลังจากนั้นได้พบหลักฐานในบันทึกของจีน กล่าวถึงฝนดาวตกพิณเมื่อ 687 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 22 เมษายน เวลา 12:30 น. จากเวลานี้ พื้นที่ที่สังเกตได้ดีที่สุดคือด้านตะวันออกของอเมริกาเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีตแสดงว่าเวลาอาจเร็วหรือช้ากว่านั้นได้ โดยอยู่ในช่วง 04:30 - 15:30 น. ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 4 ทุ่ม โดยอัตราตกค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืดวันที่ 22 เมษายน น่าจะเห็นดาวตกได้ด้วยอัตรา 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ (Eta Aquariids อักษรย่อ ETA)ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 เมษายน - 28 พฤษภาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ซึ่งตรงกับปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวง จึงมีแสงจันทร์รบกวน
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำตั้งชื่อตามดาวอีตา (η) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 4-5 พฤษภาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 70 ดวงต่อชั่วโมง (แปรผันได้ระหว่าง 40-85) ต้นกำเนิดของฝนดาวตกพิณคือดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 76 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2529 ดาวหางแฮลลีย์ทำให้เกิดฝนดาวตกอีกกลุ่มหนึ่งในเดือนตุลาคมด้วย
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 6 พฤษภาคม เวลาประมาณ 2 น. จากเวลานี้ พื้นที่ที่สังเกตได้ดีที่สุดคือกลางมหาสมุทรแปซิฟิก (แต่มีแสงจันทร์รบกวน) สำหรับประเทศไทย จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลาตี 2 เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 04:00 - 05:00 น. หากท้องฟ้าโปร่งอาจนับได้ราว 20-30 ดวง โดยพยายามหันหลังให้ดวงจันทร์ หรือเลือกตำแหน่งที่มีอาคารบ้านเรือนหรือต้นไม้บังทิศที่ดวงจันทร์อยู่ เพื่อไม่ให้แสงจันทร์เข้าตา
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ (Southern Delta-Aquariids อักษรย่อ SDA)ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม - 23 สิงหาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดใน 2 คืน ได้แก่คืนวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2555 และคืนวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งตรงกับครึ่งหลังของข้างขึ้น ดวงจันทร์มีส่วนสว่างมากกว่าครึ่งดวง
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ตั้งชื่อตามดาวเดลตา (δ) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 29-30 กรกฎาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 16 ดวงต่อชั่วโมง ค้นพบเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดคือดาวหางมัคโฮลซ์ (96P/Machholz) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 5 ปี ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2529 เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2550 ปีนี้ดาวหางมัคโฮลซ์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในกลางเดือนกรกฎาคม ดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้มีความสว่างน้อย เมื่อเทียบกับฝนดาวตกกลุ่มหลักกลุ่มอื่น ๆ
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกกลุ่มนี้ในวันที่ 30 กรกฎาคม จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม อัตราตกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าเวลาตี 2 ถึงก่อนฟ้าสาง (ของทั้ง 2 คืน) น่าจะเห็นดาวตกได้ราว 10 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส (Perseids อักษรย่อ PER)ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม - 24 สิงหาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นครึ่งหลังของข้างแรม แสงจันทร์เริ่มรบกวนตั้งแต่ประมาณตี 2 แต่ไม่มากนักเนื่องจากดวงจันทร์เป็นเสี้ยว
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสหรือฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในละติจูดสูง ๆ ทางเหนือ ซึ่งจุดกระจายดาวตกจะขึ้นไปอยู่สูงเกือบกลางฟ้าในเวลาเช้ามืด อัตราการเกิดดาวตกสูงถึงกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง และเกิดในฤดูร้อนซึ่งท้องฟ้าโปร่ง แต่การสังเกตฝนดาวตกกลุ่มนี้ในประเทศไทยมักพบอุปสรรคจากเมฆเพราะเป็นฤดูฝน
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีต้นกำเนิดมาจากดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2535 มีคาบ 130 ปี จุดกระจายฝนดาวตกเพอร์ซิอัสอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างกลุ่มดาวเพอร์ซิอัสกับแคสซิโอเปีย เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง แต่ยังมีน้อย จะสังเกตได้ดีหลังเที่ยงคืนและดีที่สุดในช่วงที่จุดกระจายดาวตกอยู่สูงซึ่งตรงกับช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนท้องฟ้าสว่างในเวลาเช้ามืด
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกเพอร์ซิอัสในช่วงเวลาตั้งแต่ 14 น. ของวันที่ 12 สิงหาคม ถึง 2 น. ของวันที่ 13 สิงหาคม ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง โดยอัตราตกค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อสังเกตตั้งแต่เวลาตี 2 เป็นต้นไปของเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม คาดว่าอัตราตกอยู่ที่ 30-40 ดวงต่อชั่วโมง, เช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม อัตราตกสูงสุดที่ 40-50 ดวงต่อชั่วโมง, และเช้ามืดวันอังคารที่ 14 สิงหาคม ลดลงไปที่ 30 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกนายพราน (Orionids อักษรย่อ ORI)ฝนดาวตกนายพรานเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 และคืนวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2555 ซึ่งตรงกับข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง รบกวนการดูดาวตกก่อนเที่ยงคืน
ฝนดาวตกนายพรานตั้งชื่อตามกลุ่มดาวนายพราน (Orion) มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 25 ดวงต่อชั่วโมง (ช่วง พ.ศ. 2549 - 2552 อัตราตกได้เพิ่มสูงผิดปกติไปอยู่ที่ 40-70 ดวงต่อชั่วโมงติดต่อกัน 2 หรือ 3 วัน) ต้นกำเนิดฝนดาวตกนายพรานคือดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 76 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2529
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 21 ตุลาคม จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลา 4 ทุ่มครึ่ง เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 03:00 - 05:00 น. โดยคาดว่าอัตราตกทั้ง 2 วันในช่วงเวลาดังกล่าวอาจอยู่ที่ 20 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกสิงโต (Leonids อักษรย่อ LEO)ฝนดาวตกสิงโตเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-30 พฤศจิกายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในเช้ามืดวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน และเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งตรงกับข้างขึ้นอ่อน ๆ ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ จึงไม่รบกวนการดูดาวตก
ฝนดาวตกสิงโตตั้งชื่อตามกลุ่มดาวสิงโต (Leo) มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 10-20 ดวงต่อชั่วโมง ต้นกำเนิดฝนดาวตกสิงโตคือดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 120 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2541 ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกสิงโตมีหลายสาย ทำให้บางปีมีอัตราตกสูงมาก สำหรับปีนี้โลกไม่ได้ผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวที่สำคัญ คาดว่าไม่น่าจะมีอัตราตกสูงเกินกว่าระดับปกติ
ปีนี้โลกจะผ่านระนาบวงโคจรของดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลในวันที่ 17 พฤศจิกายน เวลา 16:30 น. จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืนครึ่ง เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 03:00 - 05:00 น. ภายใต้ท้องฟ้ามืดและปราศจากเมฆหมอกรบกวน คาดว่าอัตราตกทั้ง 2 วันในช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกคนคู่ (Geminids อักษรย่อ GEM)ฝนดาวตกคนคู่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-17 ธันวาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม ถึงเช้ามืดวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นคืนเดือนมืดตรงกับจันทร์ดับ ฝนดาวตกคนคู่เกิดในฤดูหนาวที่ท้องฟ้าเปิดเป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนมากหลายสิบดวงต่อชั่วโมง หากไม่มีฝนหลงฤดู ปีนี้เป็นปีที่ดีมากปีหนึ่งในการสังเกตฝนดาวตกคนคู่
ฝนดาวตกคนคู่ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) จุดกระจายดาวตกอยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ ตกสูงสุดราววันที่ 13-15 ธันวาคม ของทุกปี ด้วยอัตราตกในภาวะอุดมคติที่ 120 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกคนคู่เกิดจากดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟทอน (3200 Phaethon) ซึ่งคาดว่าเคยเป็นดาวหางมาก่อน
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในขณะใดขณะหนึ่ง ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม เวลา 14 น. ถึงวันที่ 14 ธันวาคม เวลา 11 น. กราฟอัตราการเกิดดาวตกอยู่ใกล้จุดสูงสุดเป็นเวลานานเกือบ 1 วัน ทำให้สามารถสังเกตฝนดาวตกคนคู่ในอัตราสูงได้เกือบทั่วทุกลองจิจูดบนโลก จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลา 2 ทุ่ม หลังจากนั้นอัตราตกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จากการคำนวณคาดว่าน่าจะสูงเกิน 60 ดวงต่อชั่วโมงตั้งแต่เวลา 5 ทุ่ม และสูงที่สุดในช่วง 02:00 - 04:00 น. โดยอัตราตกสูงสุดอยู่ที่ 90-100 ดวงต่อชั่วโมง ภายใต้ท้องฟ้ามืดและปราศจากเมฆหมอกรบกวน หากสังเกตหลังจากนั้น 1 วัน คือในคืนวันศุกร์ถึงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม อัตราตกในช่วงเวลาเดียวกัน (ตี 2 - ตี 4) จะลดลงเหลือราว 30 ดวงต่อชั่วโมง
****โอ้วว ผมอยากเห็นสักครั้งในชีวิต จัง
ฝนดาวตกในปี 2555
[IMG]