อยากไปเรียนมัธยมปลายที่ประเทศญี่ปุ่น ความคิดของเด็กผู้หญิงวัยเพียง 16 ปี ดูช่างใหญ่เกินตัวนัก เธอเกิดแรงบันดาลใจนี้จากที่ได้ไปดูงานนิทรรศการทางการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น ทำให้เธอรู้ว่าที่ดินแดนอาทิตย์อุทัยมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเปิดสอนด้านการ์ตูนหรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "มังงะ" อย่างเป็นกิจลักษณะ แต่แน่นอนว่าคงไม่มีพ่อแม่คนใดยอมปล่อยให้ลูกไปจากอ้อมอกโดยง่ายดาย คำตอบที่ได้กลับมา คือ สีหน้ามึนงงและความไม่แน่ใจ
หมอก อธิบายเหตุผลร้อยแปดประการ ภารกิจชักแม่น้ำทั้งห้าจึงเริ่มขึ้น หมอกเล่าว่าต้องยกคุณความดีทุกประการหากได้ไปร่ำเรียนที่นั่น ตั้งแต่ได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น ได้ประสบการณ์ ไปจนถึงเพื่อปูทางสู่ระดับมหาวิทยาลัยสายมังงะด้วย
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ราว 17 ปี เด็กผู้หญิงตัวน้อยมักจะนั่งจับดินสอด้วยมือซ้าย ขีดๆ เขียนๆ สิ่งที่เด็กผู้หญิงเชื่อว่าเป็นภาพลงบนกระดาษ เป็นเช่นนี้ประจำ จนกระทั่งแม่ของเด็กผู้หญิงเริ่มสังเกตได้ว่าลูกจับดินสอด้วยมือซ้าย เธอสอนให้ลูกเปลี่ยนเป็นมือขวาตามสากลนิยม หนูน้อยฝืนทำอยู่ได้ไม่นานก็กลับมาจับดินสอแบบเดิม จนถึงทุกวันนี้ หมอกเปิดเผยในหนังสือ เส้นทางสู่ฝัน ม.ปลาย สายมังงะ ว่าภูมิใจที่จับดินสอด้วยมือซ้าย เพราะเคยได้ยินมาว่าคนที่ถนัดซ้ายมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ
และคล้ายว่าเธอจะมีพรสวรรค์นั้นจริงๆ เพราะนอกจากหมอกจะชอบวาดรูปตั้งแต่จำความไม่ได้ ฝีมือของเธอก็พัฒนาขึ้นตามวัย วันเวลาผ่านไปชีวิตนักเรียน year 10 (ประมาณม.3) ในโรงเรียนนานาชาติ Harrow ดำเนินไปพร้อมๆ กับการวาดการ์ตูน กิจกรรมที่เธอรักที่สุด รวมทั้งอะไรต่อมิอะไรที่มีกลิ่นไอวาซาบิ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยบังเอิญ อาทิ ดูการ์ตูนญี่ปุ่น ฟังเพลงญี่ปุ่น และเธอก็ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น
เมื่อใกล้เรียนจบ หมอกไปดูงานนิทรรศการทางการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยสอนวิชาการ์ตูนโดยตรง เธอจึงรีบมาแจ้งความจำนงค์ต่อพ่อแม่ทันที
หลังจากพ่อแม่มึนงง ไม่นานวัน ประกายความมุ่งมั่นบวกกับรู้อุปนิสัยลูกสาว พ่อแม่จึงตกปากรับคำยอมให้ลูกสาวเดินตามฝันสมใจ แต่โรงเรียนที่หมอกไปเรียนในคราวแรก กลับไม่มีสอนวิชาศิลปะ จึงต้องย้ายโรงเรียนโดยมี ป้าแตน หรือ สุจินดา อิซุมิดะ ช่วยหาข้อมูลโรงเรียนที่สอนวิชาการ์ตูน ทว่า เมื่อไปสมัครจึงรู้ว่าโรงเรียนมัธยมปลายเท็ตสึคายาม่า (Tezukayama Gakuin High School) ไม่รับนักเรียนต่างชาติ ด้วยเหตุผลนานาประการ ทั้งความปลอดภัย ไม่มีหอพักรองรับ และห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่
แต่ในที่สุด แฟ้มผลงานรวมกับวาทศิลป์ของป้าแตนก็ทำให้หมอกมีโอกาสลองทำข้อสอบเก่าเพื่อเข้าสู่การสอบจริง...
หมอกถูกทดสอบด้วยวิชาต่างๆ ครบครัน ทั้งวิชาการและศิลปะ สำหรับวิชาศิลปะโจทย์ที่ได้คือให้นำภาพ 4 ภาพที่กำหนด มาวาดเป็นรูปเดียวกัน ซึ่งหมอกก็ตีโจทย์และทำออกมาได้ดีทีเดียว (ดูภาพได้ในหนังสือเส้นทางสู่ฝันฯ หน้า 43) ครูศิลปะถึงกับเอ่ยปากชม แต่วิชาภาษาญี่ปุ่นหมอกทำได้ 17 คะแนน จากเต็ม 100 !
แม้ภาษาญี่ปุ่นซึ่งน่าจะจำเป็นที่สุดเมื่อต้องใช้ชีวิตที่นั่นกลับได้จะกระท่อนกระแท่น แต่ฝีมือวาดรูปก็ช่วยจุดประกายความหวังแก่เธอ
"ตอนนั้นหมอกสอบวิชาศิลปะ คุณแม่ ป้าแตน อยู่กับครูใหญ่ ครูศิลปะโทรมาหาครูใหญ่ว่าเด็กคนนี้มีแวว อยากให้มาเรียนที่นี่"
ผ่านกระบวนการทดลองสอบ สอบจริง สัมภาษณ์ ผลปรากฏว่า หมอกได้เป็นนักเรียนที่เท็ตสึคายาม่าแล้ว
เรียนจริง ยิ่งกว่าการ์ตูน
อย่างที่บอกไปแล้วว่าโรงเรียนนี้ไม่รับนักเรียนต่างชาติ แต่เมื่อหมอกผ่านด่านต่างๆ เข้ามาได้ นั่นแปลว่า เธอคือนักเรียนต่างชาติคนเดียวของโรงเรียน!
ชีวิตแทบเปลี่ยนเหมือนพลิกฝ่ามือ การกินการอยู่ก็แตกต่างไป ทุกอย่างถูกจัดระเบียบขึ้นใหม่หมด แม้แต่ชีวิตของเธอเองก็ตามหมอกเล่าว่าแม้แต่จะต่อแก๊สยังต้องลงมือทำเอง เมื่อเลือกเดินตามฝันแล้วย่อมต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางให้ได้
"พอเข้าปุ๊บ ครูใหญ่กำหนดว่าต้องอยู่แถวนั้นเพราะเป็นย่านที่ปลอดภัย ถ้ามีอะไรโรงเรียนติดต่อได้ทันที ห้องอพาร์ตเม้นต์ที่เช่าก็เป็นห้องว่างเปล่า ต้องติดตั้งทุกอย่างใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ข้อจำกัดจะเยอะ ของญี่ปุ่นเขาไม่ได้ทำระบบรองรับชาวต่างชาติเพราะฉะนั้นคุณจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวคุณเองให้เข้ากับเขาได้ ไม่ใช่เขามาทำเพื่อรองรับคุณ"
ยังไม่ทันเริ่มเรียนก็เจอบทพิสูจน์แรกแล้ว หมอกยอมรับว่ารู้สึกท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว ตั๋วความฝันมีแต่เที่ยวมา ไม่มีเที่ยวกลับ จึงต้องอดทนเดินหน้าต่อ...เธอต้องรับผิดชอบความฝัน
ตั้งสติได้ หมอกร่างภาพชีวิตที่ควรจะเป็น กำหนดตารางเวลาอย่างชัดเจนว่าในหนึ่งวันจะทำอะไร และสิ่งที่ไม่เคยหยุดคือวาดการ์ตูน
"ไหนๆ เราก็มาอยู่ที่นี่เราน่าจะทำให้ดีไปเลยแล้วก็พยายามวาดให้เยอะ ให้มันสวยขึ้น"
การเรียนดำเนินไป จาก ม.4 ไป ม.5 และขึ้น ม.6 ยากบ้าง ง่ายบ้าง สิ่งที่พาให้ฝ่าฟันมาได้คือความมุมานะและวินัยขั้นดีเลิศ ในเวลาเรียนเธอจดทุกสิ่งที่เรียน แม้จะเป็นบันทึกหลากภาษา คือ มีทั้งคำญี่ปุ่น อังกฤษบ้างถ้าไม่รู้ศัพท์ญี่ปุ่น ไทยบ้างเมื่อลืมทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ รวมทั้งภาพวาดปะปนกันไปเพื่อเพิ่มความจำ เมื่อกลับห้องพักเวลาพักผ่อนคือเวลาเข้านอนปกติเท่านั้น ไม่มีนอนกลางวัน หมอกบอกว่าไม่รู้จะนอนทำไม เสียดายเวลา เกือบทุกนาทีของเธอจึงทุ่มเทอยู่กับการวาดการ์ตูนทั้งศึกษาและปฏิบัติ
ผลของความมุ่งมั่น พากเพียร ทำให้เธอได้รับยกย่องจากครูใหญ่ให้เป็นตัวอย่างแก่เด็กนักเรียนคนอื่นๆ เธอได้รับรางวัลเรียนดีจากนายกเทศมนตรีเมืองโอซาก้า มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายประกวดการ์ตูน อีกทั้งยังเคยส่งผลงานไปเสนอสำนักพิมพ์ชื่อดังจนได้รับโอกาสให้ส่งผลงานเข้าไปได้อีก
"ตอนที่อยู่ม. 6 ก็เคยไปส่งงานที่สำนักพิมพ์ แบบที่เขามีให้ส่งประกวดชิงรางวัล ตอนนั้นเขียนแบบร่างๆ แล้วก็ให้ครูช่วยดูเรื่อง แก้ไขภาษาญี่ปุ่นนิดหน่อย แล้วก็วาดจริง แล้วก็ไปส่ง ที่โตเกียวแล้วก็เอาไปส่ง พอไปส่งเขาก็ช่วยคอมเม้นให้ ติโน่น ตินี่ให้เราพัฒนาขึ้น บางที่เราก็จะได้นามบัตรมา หมายความว่าเราส่งงานให้เขาได้อีกนะ ตอนหลังวาดใหม่อีกเรื่องหนึ่งแล้วก็ส่งไป ได้รางวัลด้วย ได้รางวัลเข้ารอบสุดท้าย 1 แสนเยน"
นั่นคือรางวัลแด่ความพยายาม แต่สิ่งที่หมอกได้รับมาเต็มๆ โดยไม่ต้องส่งผลงานประกวด ซึ่งมันเติบโตไปพร้อมๆ กับการเรียนตลอด 3 ปี คือ ความรับผิดชอบและวินัย ยิ่งเป็นคนต่างถิ่นยิ่งต้องพยายาม ยิ่งอยู่ไกลบ้านยิ่งต้องอดทน
"สิ่งที่ได้คือความรับผิดชอบ เพราะเราต้องส่งงานให้ทันกำหนด ครูก็จะสั่งงานไปเรื่อยๆ เราก็จะทำไปเรื่อยๆ เหมือนได้ลับฝีมือเรื่อยๆ ต้องรักษาเวลาด้วย พออยู่ที่โน่นอยู่คนเดียวก็ต้องจัดเวลาห้ามตื่นสาย ห้ามนอนดึก งานต้องทำให้เสร็จ"
จากข้อมูลที่ทราบมา หมอกไม่เคยส่งงานช้ากว่ากำหนดแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่ส่งก่อนเสียด้วยซ้ำ
ในที่สุดชีวิตมัธยมปลายสายมังงะก็สิ้นสุดลง หมอกสำเร็จการศึกษาอย่างงดงามด้วยเกรดเฉลี่ย 4.9 (ที่ญี่ปุ่นมีถึงเกรด 5) และจากเด็กผู้หญิงชาวไทยที่สอบภาษาญี่ปุ่นอย่างกระท่อนกระแท่น ได้คะแนะแรกเข้าเพียง 17 คะแนน กลับทำคะแนนได้สูงสุด 90 กว่าคะแนน และรักษาเพดานคะแนนไว้ที่ประมาณ 80 คะแนน!
(มากกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วไปของเด็กญี่ปุ่น เจ้าของภาษาเอง ซึ่งอยู่ที่ 50-60 คะแนน)
แม้หมอกจะเรียนจบมัธยมปลายเรียบร้อยแล้ว แต่ชีวิตยังดำเนินต่อ ในชีวิตจริงเธอกำลังจะเริ่มเรียนระดับมหาวิทยาลัยในวันพรุ่งนี้แล้ว (วันที่ 2 เม.ย.55) แต่ในโลกวรรณกรรมชีวิตมัธยมปลายของหมอกกำลังโลดแล่นบนแผงหนังสือ
ด้วยค่าที่ชอบเขียนไดอารี่เป็นชีวิตจิตใจ ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความสุข ทุกข์ ประทับใจ จึงไม่เลือนหายไปจากความทรงจำ ยิ่งได้เปิดอ่านเมื่อใดภาพเก่าๆ ก็ฉายซ้ำในห้วงคิด และนี่คือวัตถุดิบชั้นดี ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือซึ่งไม่อาจจัดให้อยู่ในหมวดใดได้ ไม่แน่ใจว่า นี่คือหนังสือการ์ตูนแสนสนุก บันทึกชีวิตนักเรียนนอกที่ไม่ค่อยธรรมดา หรือเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจที่ถูกใจวัยรุ่นที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นทุกอย่างที่กล่าวมา
หมอกเล่าว่าตั้งใจจะแบ่งปันประสบการณ์นี้ผ่านหนังสือ เส้นทางสู่ฝัน ม.ปลาย สายมังงะ...
"ตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากจะแชร์ เพราะมันเป็นโอกาสที่คนเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงยากมาก แชร์ตรงนั้นมาให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ มีตัวอย่างการเรียน จะได้รู้ว่าทางโน้นเขาสอนยังไง มีเทคนิคการสอน แทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย"
ความคิดที่จะมาเป็นหนังสือเล่มนี้เริ่มขึ้นเมื่อหมอกเรียนประมาณ ม.5 วิธิต อุตสาหจิต หรือ บ.ก.วิติ๊ด ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของหมอก (โดยบังเอิญ) มองเห็นว่าประสบการณ์ที่หลานได้รับน่าจะมาถ่ายทอดเป็นหนังสือได้ จึงทาบทามไว้ตั้งแต่เพิ่งไปเรียนใหม่ๆ ทว่าหมอกยังไม่กล้าทำ เพราะคิดว่าตนยังเด็กอยู่ แต่ถ้าเรียนจบแล้วก็ยินดี
ในที่สุดก็ครบกำหนดเวลา 3 ปี หมอกรวบรวมเนื้อหาจากไดอารี่ รวบรวมภาพที่เกี่ยวข้อง เขียนเป็นบันทึกแบบเพื่อนเล่าให้เพื่อนอ่าน ด้วยภาษาเรียบง่าย ใสๆ ซื่อๆ อ่านรื่น ดูภาพเพลิน ทั้งยังได้กำลังใจจากความคิดเชิงบวกของเด็กผู้หญิงที่กล้าฝัน กล้าเดินตามฝัน จนคว้าฝันไว้ได้
"นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับ 3 ปีที่ผ่านมาว่าหมอกไปได้ยังไง ทำไมหมอกถึงไปได้ ไปเรียนอะไรที่โน่น คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ เพราะว่าเด็กที่ไปเรียนม.ปลายที่ญี่ปุ่นด้านสายศิลปะโดยตรงคงจะน้อยมาก คิดว่าตัวเองโชคดีด้วย เลยเอามาแชร์ประสบการณ์ มีเขียนด้วยว่าวิชาไหนเรียนอะไรบ้าง ความจริงอยู่ที่บ้านก็คงทำได้เหมือนกัน เราก็ฝึกได้นะ อาจจะเป็นวิธีฝึกอีกแบบหนึ่ง ก็อาจจะได้แรงบันดาลใจด้วยว่าอย่างหมอกยังทำได้เลย คนอื่นน่าจะทำได้ด้วย เพราะว่ามันก็ไม่ใช่อะไรที่ยากขนาดนั้น ขอแค่มีความตั้งใจ"
หมอกเล่าว่าหนังสือเล่มนี้เป็นธรรมชาติมาก บรรณาธิการแทบจะไม่แตะกับความรู้สึกของหมอกเลย ปล่อยให้มันดิบอย่างนั้น หากสังเกตจะพบว่ามีรูปภาพนอนตายบ่อยมาก ตายๆ ฟื้นๆ ทั้งเล่ม สะท้อนว่ามันหนัก ทำจนหมดแรงแล้วก็ฮึดขึ้นมาใหม่"
ในสายตาของผู้ได้รับฉายาว่าราชาแห่งการ์ตูนไทยอย่าง วิธิต มองอย่างเป็นกลาง ไม่มีเชื้อสายเกี่ยวข้อง ว่า "จากวิสัยทัศน์ของผม เด็กคนนี้น่าจะสร้างปรากฏการณ์ !"
จุดประกายวรรณกรรมเชื่อว่าทุกคนมีฝัน บางคนกล้าเดินตามฝัน แต่ก็มีหลายคนละทิ้งฝันไป ลองถามตัวเองสักครั้งว่ายังอยากทำตามฝันอยู่หรือไม่ หากคำตอบคือ "ใช่" จงรีบออกเดินก้าวแรก หมอกคือตัวอย่างของคนมีฝันที่กล้าออกเดิน แล้ววันนี้ฝันก็กลายเป็นจริง
...อย่าปล่อยฝันให้ปลิวหายไปกับสายลม0
★ หนังสือดีๆๆที่อยากให้อ่านน ★
[IMG]