ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ละคร ภาพยนตร์หรือแม่กระทั่งการ์ตูน ผู้เขียน-ผู้แต่งนั้นก็ล้วนทำออกมาจากใจ เพื่อต้องการถ่ายทอดผลงานของตนเองผ่านงานสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ และผลงานเหล่านี้ทั้งหมดก็มักจะแฝงแง่คิด ความรู้เล็กๆน้อย เพื่อให้คนดูคนอ่านได้รู้กันผ่านงาน ผ่านตัวละคร เช่นเดียวกับ การ์ตูนญี่ปุ่น อมตะ “โอราเอมอน“ เชื่อว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่จะไม่รู้จักแน่นอน สมัยเด็กๆนั้นจะต้องเปิดโทรทัศน์มาดูทุกเช้า ดูโนบิตะจะก่อเรื่องอะไร โดราเอมอนจะแก้ปัญหาโดยใช้ของวิเศษอะไรบ้าง สนุกสุดๆ!! แต่ตอนเด็กๆเราก็แค่ดูเพื่อนความสนุกเท่านั้น แต่เพื่อนๆรู้ไหมว่า การ์ตูนเรื่องนี้ ให้ ควมารู้ และ สอนอะไรได้มากกว่าที่ตาเห็นอีกนะ ^^
หลายต่อหลายคนที่ได้ดูและอ่านการ์ตูน โดราเอมอน คงยังสงสัยกันอยู่ว่า ทำไม โนบิตะ ทั้งๆที่เป็นคนไม่เอาไหน แต่ทำไม่ถึงประสบความสำเร็จในชีวิตได้ .. เพื่อนๆอยากรู้ไหมว่าทำไม เราไปหาคำตอบพร้อมๆกันคะ .. ( บทความอาจะยาวไปหน่อย แต่เนื้อหาดีๆทั้งนั้นนะคะ ลองอ่านกันดู!! ^^)
หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศให้โดราเอมอนกลายเป็นวรรณกรรมเอกประจำชาติเรื่องหนึ่ง ทั้งยังเพิ่มเนื้อหาเรื่องของโดราเอมอนลงในหนังสือเรียนด้วย กระแสความคลั่งไคล้การ์ตูนเรื่องนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ (จากที่ปกติก็มากจนไม่รู้จะอธิบายยังไงดีแล้ว) และผู้อ่านโดราเอมอนก็พัฒนาระดับการอ่านจากอ่านเพื่อความบันเทิงเป็นอ่านในเชิงวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่างๆ เกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “โดราเอมอนศึกษา” ขึ้นมา
โดราเอมอนศึกษา มีขอบข่ายการศึกษาที่ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องว่าด้วย จิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาครอบครัว จิตวิทยาชุมชน สัญลักษณ์วิทยา ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ก็มี เป้าหมายหลักคือ หาเหตุผลสำคัญที่ทำให้โดราเอมอนกลายเป็นการ์ตูนอมตะในหัวใจของนักอ่านเกือบ ทั่วโลกได้ และผลจากการวิจัยในด้านต่างๆ ทำให้ได้รู้กันว่าภายใต้มังก้าลายเส้นเรียบง่ายนี้ ‘ลึก’ กว่าที่คิด มีอะไรๆ แฝงอยู่มากพอๆ กับ จำนวนของวิเศษ ในกระเป๋าสี่มิติทีเดียว
นศ.ปริญญาเอก ม.ฟุคุยาม่า ชื่อ โยโกยาม่า ยาสุยุกิ ได้ทำ วิทยานิพนธ์สาขาโดราเอม่อนศึกษา ขึ้นมาฉบับหนึ่งหลังจากอ่านโดราเอม่อน ทุกตอนจบประมาณห้าสิบรอบและเก็บรวบรวมข้อมูลเป็น Database อีกพักหนึ่ง เป็นวิทยานิพนธ์ที่เจาะลึกเกี่ยวกับโนบิตะซึ่งเป็นตัวละครเอกที่แท้จริงของ เรื่อง มีการวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของโนบิตะเพื่อนำไปตอบข้อสงสัยของผู้อ่านหลายท่าน ที่ว่า ทำไมคนอย่างโนบิตะจึงประสบความสำเร็จในอนาคต แถมยังได้แต่งงานกับชิซุกะที่ออกจะเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ ห่างจากตนอยู่หลายขุมได้ หรือว่าจะเป็นอานิสงส์จากของวิเศษของโดราเอม่อนล้วนๆ ศึกษาไปศึกษามา โยโกยาม่าจึงพบว่าแท้จริงแล้ว อ.ฟูจิโกะได้แฝงแนวคิดว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดผ่านทางตัวโนบิตะเอาไว้ สิ่งนี้เองที่ทำให้โนบิตะประสบความสำเร็จได้ ส่วนของวิเศษของโดราเอม่อนนั้นเป็นเหมือน ‘ทางผ่าน’ ที่ทำให้โนบิตะค่อยๆ เรียนรู้หนทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริงโดยไม่ต้องพึ่งของวิเศษนอกจากนั้น โนบิตะก็เป็นเสมือนตัวแทนของปุถุชนอย่างผู้อ่านที่ต่างก็หวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในระหว่างที่หัวร่องอหายไปกับความเปิ่นของโนบิตะ บ่อยครั้งที่หลายคนฉุกคิดสะท้อนใจถึงตัวเอง จึงกล่าวได้ว่าโดราเอม่อนไม่ได้เป็นเพียงการ์ตูนจบในตอนสำหรับเด็กอ่านสนุกๆ เท่านั้น แต่เป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ตอบสนองคนได้ทุกเพศทุกวัย
ด้วยเหตุนี้โดราเอม่อนจึงยังครองความนิยมจนทุกวันนี้ วิทยานิพนธ์ว่าด้วยแนวทางการดำเนินชีวิตแบบโนบิตะฉบับนี้ได้สรุปเอาข้อ คิดเกี่ยวกับ หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต ที่ อ.ฟูจิโกะสอดแทรกไว้ในการ์ตูนแต่ละตอนมารวมกัน หลังจากนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือแนวฮาวทู สำหรับพัฒนาตนเองเล่มหนึ่ง ซึ่งอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านที่ฉลาดกว่าโนบิตะก็น่าจะรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “วิถีแห่งโนบิตะ” นี่เอง
โดราเอมอน การ์ตูนอมตะ แฝงด้วยความรู้ ทั้งนั้น! : อ่านไปอ่านมาเริ่มสนุกกันแล้วใช่ไหมเรามา ดูกันว่าเนื้อหาในหนังสือ “วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน” นั้นเป็นอย่างไร?
บทนำ : หากโดราเอมอนไม่อยู่ละก็ .. เปิดเรื่องด้วยเรื่องย่อของโดราเอม่อนตอนแรก ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่ทำให้โดราเอม่อนมาอยู่กับโนบิตะ และชีวิตบัดซบของโนบิตะในวัยกลางคน จากนั้นก็แนะนำโนบิตะพอสังเขปทั้งข้อดีข้อเสีย และแนวคิดโดยรวมของการ์ตูนโดราเอม่อน
บทที่ 1 เหตุการณ์ในเรื่องโดราเอม่อน เป็นภาพสะท้อนของสังคม กล่าวถึงปมปัญหาต่างๆ ในเรื่องโดราเอม่อนว่าเป็นปัญหาที่มักประสบพบเจอกันในโลกแห่งความเป็นจริง
บทที่ 2 ฟ้าหลังฝน วิเคราะห์ความล้มเหลวผิดพลาดของโนบิตะที่มีสาเหตุมาจากนิสัยเสียส่วนตัว และนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตจริงของคนเรา
บทที่ 3 โนบิตะซะอย่างไม่มีคอตกอยู่แล้ว ว่าด้วยอุปนิสัยของโนบิตะที่ทำให้ตัวเองเป็นที่รักของคนอื่น
บทที่ 4 วิถีทำฝันให้เป็นจริงอย่างโนบิตะ ว่าด้วยอุปนิสัยเฉพาะตัวของโนบิตะที่มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จได้
บทที่ 5 กฎเกณฑ์แห่งฝัน พูดถึงสัจธรรมเกี่ยวกับความฝัน ฝันบางอย่างทำให้เป็นจริงได้ ในขณะที่บางฝันก็แค่ฝันเฟื่อง และคำอธิบายสำคัญว่าทำไมในบางตอน โดราเอม่อนถึงให้โนบิตะยืมของวิเศษอย่างง่ายดาย ในขณะที่บางตอนง้อแทบตายก็ไม่ยอม
บทที่ 6 พยายาม “แบบโนบิตะ” ก็เพียงพอแล้ว คล้ายกับบทที่ 4 แต่บทนี้จะเน้นหนักไปในแนวทางปฏิบัติเพื่อทำความฝันให้เป็นจริงมากกว่า ในขณะที่บทที่ 4 จะพูดถึงลักษณะนิสัยอันพึงประสงค์
บทที่ 7 โดราเอม่อนก็อยู่ข้างตัวคุณเช่นเดียวกัน แนะแนวทางการปฏิบัติเมื่อพบกับความทุกข์ความล้มเหลว ตอนจบ สารที่ อ.ฟูจิโกะ ผู้แต่งโดราเอม่อนต้องการสื่อถึงผู้เขียนมาโดยตลอดคืออะไรบ้าง
เล่มนี้เป็น สารคดีแนวพัฒนาตนเอง หรือ หนังสือฮาวทู ดังนั้นผู้อ่านสามารถนำข้อคิดที่ได้จากเล่มนี้ไปปฏิบัติได้ จะสำเร็จหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะผู้เขียนนั้นเรียบเรียงประเด็นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อ่านแล้วเข้าใจง่าย และมีการยกตัวอย่างจากการ์ตูนบางตอนเพื่อเสริมแนวคิดของผู้เขียน อันเป็นการแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวมีอยู่จริง ซึ่งผู้เขียนได้กลั่นกรองมาอย่างลึกซึ้งแล้ว มิได้นั่งเทียนเอาเอง ผู้เขียนวิเคราะห์โนบิตะ โดราเอม่อน และตัวละครอื่นๆ ได้ละเอียดจนน่ากลัว น่ากลัวว่าบางประเด็นเข้าข่ายการ “แถ” รึเปล่า แต่อ่านแล้วเพลินดีก็ไม่ว่ากัน ในหนังสือเล่มนี้นั้นมีหลายแนวคิด เช่นเพื่อนๆเคยสังเกตุหรือไม่ว่า โดราเอม่อนแต่ละตอนมักจะเริ่มด้วยปัญหาของโนบิตะ แล้วโนบิตะก็มาขอความช่วยเหลือจากโดราเอม่อน โดราเอม่อนก็มักใจอ่อนให้ของวิเศษไปใช้ แต่สุดท้ายแล้ว ของวิเศษที่ขอไปก็มักไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้ผล โนบิตะเลยต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และกลายเป็นว่าได้ผลดีกว่าใช้ของวิเศษเสียอีก
Theme หลักของโดราเอม่อนจึงเหมือนกับพุทธภาษิต “อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ – ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หรือการที่โนบิตะชนะใจใครต่อใครได้ รวมทั้งคนอ่านหลายคน เพราะแม้จะมีไอคิวต่ำ แต่อีคิวดีเยี่ยม ในขณะที่เด็กเลิศอย่างเดคิซุงิกลับชวนให้รู้สึกหมั่นไส้ เพราะเป็นคนที่ไอคิวดี แต่อีคิวต่ำ ตรงกันข้ามกับโนบิตะ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ชิซุกะเลือกแต่งงานกับโนบิตะแทนเดคิซุงิก็ได้ เป็นต้น
จ ะว่าไป สาเหตุหนึ่งที่การ์ตูนสำหรับเด็กอย่างโดราเอม่อนกลายเป็นการ์ตูนอมตะที่ครอง ใจคนอ่านมาหลายทศวรรษนี่ก็เพราะมีพระเอกอย่างโนบิตะนี่ล่ะเนอะ ด้วยความ imperfect สุดๆ ของโนบิตะ เขาจึงมักโดนใช้เป็นตัวแทนแสดงความอ่อนแอของมนุษย์ แม้บางทีจะดูน่าสมเพชเวทนา แต่ก็เป็นตัวละครที่ได้รับคะแนนสงสารจากแม่ยกเสมอ มีการวิเคราะห์ว่าคนอ่านมักเอาใจช่วยโนบิตะเพราะเห็นภาพสะท้อนของตัวเองจาก ตัวโนบิตะ อะไรที่โนบิตะอยากมี อยากได้ อยากทำ ก็มักเป็นสิ่งที่คนเราอยากมี อยากได้ อยากทำกันทั้งนั้น ดังนี้ ตัวเอกที่ขาดๆ เกินๆ อย่างโนบิตะจึงอยู่ในความทรงจำของหลายคนได้ไม่แพ้โดราเอม่อนเลยทีเดียว กลับกัน ถ้าให้โนบิตะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างแบบเดคิซุงิ หรือให้เจ้าเดคิซุงิเป็นตัวเอก คนจะจำเรื่องโดราเอม่อนได้นานถึงขณะนี้มั้ย teen.mthai เชื่อว่าไม่ เพราะถ้าเป็นงั้นจริง เรื่องจะไม่มีอะไรให้ลุ้นเลย การเรียนดี กีฬาดี หน้าตาดี โอ้โห … ชีวิตจะดีไปกว่านี้ได้อีกมั้ยเนี่ย ในเมื่อทุกอย่างหายห่วง แล้วคนอ่านจะเอาอะไรไปลุ้น ไปเอาใจช่วยเขาล่ะ จริงไหม? เพราะพอเกิดปัญหาอะไรขึ้น เดี๋ยวมันก็แก้ได้ ก็เก่งนี่ เพราะงี้แหละ เรื่องไหนที่มีตัวเอกเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ หน้าตาดี สมองดี จึงมักหายไปจากความทรงจำอย่างรวดเร็วไง หรือถ้ามีแฟนด้อมมากๆ ก็อาจจะยืดเวลาไปได้หน่อย แต่ก็ไม่มีวันอยู่ได้นานเท่าเรื่องที่มีตัวเอกเหมือนคนธรรมดาเดินดินอย่าง เราหรอก
การ์ตูนโดราเอม่อนสมัยก่อน สมัยที่คนเขียนยังมีชีวิตอยู่ เนื้อเรื่องเยี่ยมมากๆ แฝงข้อคิดลึกซึ้งมาก แถมสะเทือนอารมณ์สุดๆ เช่น ตอนที่โนบิตะเจอตุ๊กตาล้มลุกที่คุณย่าให้เป็นของขวัญ ตอนนั้นอ่านครั้งแรกน้ำตาไหลไม่รู้ตัวเลย เป็นตอนที่ประทับใจที่สุดตอนนึง แต่เนื้อเรื่องในยุคปัจจุบันเหมือนทำให้เป็นเชิงพาณิชย์ขึ้น ดูอย่างตอนพิเศษ ตั้งแต่ภาคอัศวินแดนวิหค ภาคที่คนวาดไม่ใช่ฟูจิโกะ เนื้อเรื่องอ่อนกว่าภาคแรกๆ เยอะเลย หมดความ classic ไปหน่อย ..
เปรียบเทียบตัวละครใน โดราเอม่อน เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ ดังนี้
โดราเอม่อน = ความฝัน วัยเยาว์ สติปัญญา (Wisdom) ชีวิตในอุดมคติ
โนบิตะ = คนธรรมดาเดินดิน ข้อบกพร่องของมนุษย์ EQ
ชิซุกะ = อารมณ์ ความอ่อนไหว
ไจแอนท์ = พละกำลัง อำนาจ ความรุนแรง
ซูเนโอะ = คนรวย เงินตรา ทุนนิยม
เดคิซุงิ = ความรอบรู้ (Intelligence) IQ ที่แยกความรอบรู้ (Intelligence) กับสติปัญญา (Wisdom) ออกจากกันเพราะเห็นว่ามันคนละตัวกัน (มนุษย์ต่างดาวสี่แขนใน Star Wars EpII: Attack of the Clones ก็เคยบอกโอบีวันไว้เช่นเดียวกัน) Wisdom ช่วยให้คนเอาตัวรอดได้ ในขณะที่ Intelligence อาจทำให้คนมีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มักเหมารวมสองตัวนี้ด้วยกัน แถมยังยกย่องคนที่ Intelligent มากกว่าคนที่ Wise
เป็นยังไงกันบ้างคับเพื่อนๆ ชาว 2th ทุกคน ถ้าใครได้อ่านบทความทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเพื่อนๆก็คงอยากจะหาหนังสือ “วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน” มาอ่านกันแน่นอน เห็นไหมว่า การ์ตูนนั้นก็ไม่ได้ให้ความบันเทิงเสมอไป มันแฝงแง่คิดให้คนได้รู้กันด้วย เพียงแต่ว่าคนที่ดูนั้นจะอินและนำไปปรับใช้รึเปล่าก็เท่านั้น สุดท้ายนี้ อยากจะฝาก ประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนๆได้อ่านกันนะคับ ^^
“มนุษย์เรา หากพลังใจในความฝันได้เหือดแห้งลงไปแล้ว อายุก็จะกลายเป็นเพียงแค่ตัวเลข ความหนุ่มก็จะเบรกหยุดลงกะทันหัน ความฝันหรือความปรารถนา มีความสำคัญต่อมนุษย์สักเพียงใด โนบิตะและโดราเอม่อนได้สอนให้เราเห็นแล้วผ่านทางวิถีต่างๆ ต่อจากนั้น หาก ‘วิถีแห่งโนบิตะ’ ที่ว่านี้ช่วยเติมแรงใจให้คุณได้สักนิด คงทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นฝันที่เล็กกระจ้อยร่อยสักเพียงใดก็ไม่แคร์ ขอเพียงแค่คุณก้าวเดินไปด้วยหัวใจที่หลงใหลในความฝัน ที่เหลือก็แค่เผชิญกับมัน เพื่อทำความฝันให้กลายเป็นความจริง!!!”
3 กันยายน
วันเกิดของโดราเอม่อน
โยโกยาม่า ยาสุยุกิ
จากปกหลังของหนังสือ “วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน”
ปล.มันยาวไปหน่อยนะคับขอโทดด้วย
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก Mthai
โดราเอมอน การ์ตูนอมตะ แฝงด้วยความรู้ทั้งนั้น!