สวัสดีครับ ทุกๆ ท่าน วันนี้ผมนำสาระเกี่ยวกับการ์ตูนมาครับ คราวนี้เป็นการ์ดเกมบ้างครับผม
การทำอนิเมชั่นทางทีวีสักเรื่องหนึ่งใช้เงินลงทุนสูงมากกว่าหนังสือการ์ตูนจนเปรียบกันไม่ได้ (ตามที่เคยเขียนใน 5 สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้ ในธุรกิจอนิเมะ) แต่แลกกับการขายสินค้าต่างๆ ที่บริษัทต้นสังกัดได้รับ ยังถือว่าค่อนข้างคุ้มค่า สินค้าที่เห็นภาพชัดที่สุดก็พวกการ์ดเกม TCG (Trading Card Game) หรือ CCG (Collectible Card Game) ที่เมื่อก่อนฮิตกันในบ้านเรามาก ถึงในบ้านเราจะกระแสซาไปนานร่วมสิบปีแล้ว แต่วงการการ์ดของญี่ปุ่นกลับคึกคักอยู่เสมอ
Yu-Gi-OH! การ์ดขายดีที่สุดในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทั้งเกมออนไลน์, PC ออฟไลน์ และคอนโซลจำนวนมาก เยอะกว่าของไทยหลายเท่า จนไม่น่าจะไปเล่นการ์ดกันแล้ว แต่ตลาดการ์ดกลับยังเฟื่องฟูอยู่ เพราะมีการโปรโมตอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลมาจากอนิเมะเป็นหลัก
ยอดขายรวมในตลาดการ์ดในญี่ปุ่นโดยทาง Media Create ซึ่งรายงานประมาณเดือนเมษายนของแต่ละปี มีการรายงานมูลค่ารวมตลอดปี 2010 ซึ่งทำยอดรวมไปถึง 84,043 ล้านเยน หรือประมาณ 33,300 ล้านบาท และในปี 2011 ยังมีการเติบโตขึ้นกว่าเดิมไปอีก ทำมูลค่ารวมได้ถึง 100,613 ล้านเยน หรือประมาณ 39,640 ล้านบาท เติบโตจากเดิมถึง 19.7% จากปี 2010
การ์ดที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในปี 2011 มีดังนี้
1. Yu-Gi-Oh! ครองส่วนแบ่งตลาดไปร่วม 33.23% ในปี (2010 : 33.91%) ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย
2. Duel Masterครองตลาดไป 17.95% (2010 : 16.68%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
3. Cardfight!! Vanguardของทาง Bushiroad การ์ดน้องใหม่ดันด้วยอนิเมะในปีเดียวกัน ครองตลาดไป 7.98%
อันดับ 4 และ 5 เป็นของการ์ด Battle Spirits กับ Professional Baseball Owners League (การ์ดสะสมรูปนักเบสบอลชื่อดังในญี่ปุ่น) ตามลำดับ
การ์ด Yu-Gi-Oh! เริ่มวางจำหน่าย หลังหนังสือการ์ตูนออกมาตั้งแต่ปี 1999 ครองส่วนแบ่งตลาดการ์ดในอีกหลายประเทศในสัดส่วนที่สูง วางจำหน่ายการ์ดอย่างเป็นทางการมากกว่า 45 ประเทศ และได้บันทึกใน Guinness World Record ว่าเป็นการ์ดที่ขายออกมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประมาณ 25,175 ล้านใบ ในเดือนมีนาคมปี 2011
แล้วการ์ด MTG ล่ะ ?
เทียบกับการรุ่นเก่าที่เคยดังในญี่ปุ่น การ์ด Magic: the Gathering (MTG) เทียบกับสัดส่วนคนเล่นในประเทศอื่น ก็ยังพอเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่สูง แต่เนื่องจากการ์ดเกมใหม่ๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นที่คล้ายคลึงหรือแหวกแนวกว่า MTG ทำให้คนญี่ปุ่นหันไปเล่นการ์ดที่ผลิตในประเทศตัวเอง และความนิยม MTG ลดลงไปตามเวลา
อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกต คือ บริษัท Konami ไม่เคยหวั่นเรื่องที่ผลิตการ์ด Yu-Gi-Oh! ในรูปแบบเกมคอนโซล มีภาคใหม่ทุกปี แทบทุกแพตท์ฟอร์ม โดยไม่หวั่นว่าผู้เล่นจะหันไปเล่นเกมมากกว่าการ์ดจริงๆ เพราะถือว่าเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน ซึ่งก็ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายการ์ดจริงจนถึงปัจจุบัน
บอกลามังงะ มุ่งสู่อนิเมะ
บางคนอาจรู้สึกแปลกใจกันว่า ทำไมถึงเรื่องยูกิโอะถึงไม่ทำเป็นหนังสือการ์ตูนต่อเป็นตอนยาวๆ แบบภาคเก่า ภาคหนังสือการ์ตูนก็ทำออกมาเหมือนแค่ส่งเสริมยอดการขาย ไม่ค่อยสนุกเลย คนไม่ชอบอนิเมะก็ไม่ได้อ่านสักที ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าแทบจะทุกการ์ดเกมเลย ที่ไม่ค่อยโปรโมตแบบหนังสือการ์ตูนนัก
สำหรับซีรีส์ Yu-Gi-Oh! ออกอนิเมะภาคใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดตั้งแต่ปี 2000 ทั้งที่การลงทุนสร้างอนิเมะสูงกว่ามังงะมาก และยังฉายในช่วงค่ำ ซึ่งเป็นเวลาในช่วงค่ำของของญี่ปุ่นได้ (ค่า Slot เวลาค่อนข้างสูงมาก) ซึ่งน่าจะยืนยันได้ว่า การดันด้วยอนิเมะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
เหตุผลหลัก เพราะลงทุนโปรโมตอนิเมะแล้วประสบความสำเร็จกว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในญี่ปุ่นได้ดีกว่า เนื่องจากฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ที่สามารถชมกันได้ทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กและกลุ่มวัยรุ่นที่มีทั้งกำลังทรัพย์กับมีเวลาในการเล่นการ์ด ประกอบกับการจัดกิจกรรมแข่งขันทั่วประเทศอยู่ตลอด ทำให้ความนิยมการ์ดเกมในญี่ปุ่นยังคงมีการหมุนเวียนอยู่
ส่วนลูกค้าต่างประเทศที่ได้ดูอนิเมะแล้ว รู้สึกคันไม้คันมืออยากเล่น ก็อาจสั่งซื้อไปสะสมจากต่างประเทศ หรือซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น ซึ่งก็มีการ์ดเวอร์ชั่นภาษาต่างประเทศหลายใบตามมา อย่างเช่น Weiss Schwarz, Cardfight!! Vanguard แล้วยังมีบางใบที่ทำภาษาอื่นด้วย อย่าง Battle Spirits ที่มีภาษาไทย
ตัวอย่างการ์ด Weiss Schwarz (เป็นการ์ดที่ใช้ภาพจากอนิเมะ แบ่งเป็นชุดเซ็ตตามเรื่อง)
ภาพจากภาคเก่า น่าจะคุ้นหน้ากว่าเพราะเคยฉายผ่านเคเบิลในไทย
Battle Spirits ก็เป็นการ์ดอีกตัวที่มาแรงมาก ติดอันดับ 4 การ์ดขายดีในญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน และมีอนิเมะต่อเนื่องเรื่อยๆ (ภาคใหม่ฉายในญี่ปุ่น เดือนตุลาคม) รวมทั้งมีการ์ดแบบภาษาไทยจัดจำหน่ายด้วย
นอกจากการ์ดที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีการ์ดอีกหลายอย่างที่เข้ามาในตลาดพร้อมการโปรโมตด้วยอนิเมะ อย่างเรื่อง Bakugan Battle Brawlers, Weiß Survive (Weiss Schwarz) แล้วยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่องในอนาคต แม้จะดูอนิเมะตอนกำลังเล่นหรือแข่งขันด้วยการ์ดไม่รู้เรื่องในบางจุด แต่พอไปสอบถามและหาข้อมูลเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ตก็น่าจะพอเล่นเป็นกันได้ไม่ยาก
หลายๆ คนอาจคิดว่า “เด็กกับวัยรุ่นไม่ค่อยมีกำลังซื้อ ทำสินค้าผู้ใหญ่ดีกว่า” เป็นความคิดที่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม จากข้อมูลในหลายสถิติชี้ว่า กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเป็นคนอุดหนุนสินค้า ในสัดส่วนที่สูงเทียบเท่าหรือสูงกว่าคนวัยทำงานเสียอีก (เกมออนไลน์บางเกมก็เช่นกัน) จึงไม่แปลกที่จะมีอนิเมะหลายเรื่องจะหันกลับไปจับตลาดกลุ่มเด็กมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า แต่อนิเมะจะประสบความสำเร็จตามการ์ดเกมไปด้วยหรือเปล่า ? .... นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งล่ะครับ
ข้อมูลและรูปประกอบเพิ่มเติมจาก : Wikipedia, Thecardz, Battlespirits.exteen, Hobbystoreshockwave
เครดิต: http://www.online-station.net/entertainment/cartoon/183
ปล.แต่ก่อนนี่ซื้อประจำ เดี๋ยวนี้ผมซื้อแต่มังงะอ่าน แล้วก็โหลดอนิเม ฮ่าๆๆ
ธุรกิจการ์ดเกมกับวงการการ์ตูน