นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก โดยใช้เทคนิคเดียวกับการโคลนนิ่งแกะ"ดอลลี" ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกของโลก ที่เกิดจากเทคโนโลยีโคลนนิ่งเมื่อ 17 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย "โอเรกอน เฮลธ์ แอนด์ ไซแอนซ์ ยูนิเวอร์ซิตี" ประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยความสำเร็จในการโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ผ่านทางวารสารวิชาการที่ชื่อว่า Cell โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากความสามารถในการนำเซลล์ผิวหนังทารกในครรภ์ ไปสร้างเป็นเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ ด้วยวิธีการถ่ายฝากนิวเคลียส
วิธีการนี้คล้ายคลึงกับความสำเร็จของการโคลนนิ่งแกะ"ดอลลี" ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลนนิ่งเมื่อปี 2539 โดยการถ่ายฝากนิวเคลียสที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯใช้ คือ การนำเซลล์ผิวหนังทารกในครรภ์มารดา ซึ่งมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว ฉีดเข้าไปในนิวเคลียสของไข่ ก่อนใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ทำให้ไข่เริ่มแบ่งตัว โดยกระบวนการดังกล่าว ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลาที่ไข่ได้ผสมกับตัวอสุจิแล้วเท่านั้น
หลังจากกระบวนการนี้สิ้นสุดลง ในอีกหลายวันต่อมา ก้อนเซลล์ที่แบ่งตัวออกมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกับเซลล์ต้นแบบที่ ใช้อย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยในกรณีของการโคลนนิ่งแกะ"ดอลลี" นักวิทยาศาสตร์นำก้อนเซลล์ใหม่ที่ได้ ไปพัฒนาต่อเป็นตัวอ่อน และนำไปฝากในท้องของแกะตัวเมีย ก่อนคลอดออกมาเป็นแกะโคลนนิ่ง"ดอลลี"ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในการทดลองโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯยืนยันว่า พวกเขาไม่มีจุดประสงค์ในการโคลนนิ่งมนุษย์ทั้งร่างแบบเดียวกับแกะ"ดอลลี" แต่จะใช้ความสำเร็จนี้ในการโคลนนิ่งสเต็มเซลล์ตัวอ่อน เพื่อพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือเซลล์อื่นๆของเนื้อเยื่ออวัยวะในร่างกายเท่านั้น
นักวิจัยระบุว่า กระบวนการนี้ใช้เวลาเพียง 2 - 3 เดือน ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่สั้นอย่างน่าประหลาดใจ นอกจากนี้ ยังถือเป็นย่างก้าวใหม่ที่สำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลกในยุคปัจจุบันอีกด้วย
ที่มา:
ขอบคุณ
Voicetv
ภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
อ้างอิงจาก http://board.postjung.com/678361.html
สหรัฐฯ 'โคลนนิ่ง' ตัวอ่อนมนุษย์สำเร็จครั้งแรก