นอนไม่หลับ
ร่างกายและสมองต้องการการพักผ่อนในแต่ละวันเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับวันใหม่ ถ้าเมื่อไหร่ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เปรียบเสมือนเครื่องจักรทำงานตลอดเวลาอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ ดังนั้น เราควรใส่ใจกับสุขลักษณะการนอนเพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ธรรมชาติมนุษย์ทุกคนมีนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock)ในสมองคอยปรับเวลาในการนอนหลับ มีวงจร การนอน-ตื่น และมีสารสื่อประสาทที่สำคัญหลายตัว คอยควบคุมการนอน ไม่มีเวลาที่ตายตัวว่าในแต่ละคนต้องนอนหลับกี่ชม.ต่อวันจึงจะเพียงพอ แต่อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 4 ชม. ในคนที่นอนไม่พอหรืออดนอนนานๆ ประสิทธิภาพในการทำงานต่างๆ จึงลดลง เนื่องจากสมองล้า ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ สาเหตุของการนอนไม่หลับมีได้หลายอย่างเช่น มีการเจ็บป่วยทางกายเช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคที่ทำให้มีการเจ็บปวดตามที่ต่างๆ ของร่างกาย มีปัญหาทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือระยะแรกของอาการทางจิต การใช้สารกระตุ้น เช่น กาแฟ ชา บุหรี่ สุรา ยาบ้า เป็นต้น หรือบางคนอาจไม่พบสาเหตุก็เป็นได้
การนอนไม่หลับมีได้ทั้งแบบที่นอนไม่หลับในช่วงเริ่มต้นการนอน (Initial Insomnia) หรือ นอนหลับง่ายแต่ตื่นเร็วหรือตื่นบ่อยๆระหว่างคืน (Terminal Insomnia)
วิธีการแก้ไขการนอนไม่หลับด้วยตนเอง1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน /บุหรี่ / สุรา เพราะมีฤทธิ์ทำให้ตื่นตัวและเป็นโทษต่อร่างกาย • อาหารมื้อหนักก่อนอน เพราะจะทำให้แน่นท้องท้องอืด และไม่สบายตัว• กิจกรรมที่ใช้พลังงานมากก่อนนอน เช่น ออกกำลังกายหักโหมเกินไป • ทำงานที่มีความเครียดหรือใช้สมาธิมากๆ ก่อนเข้านอน• ความอ้วน เพราะ จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่นอนกรน หรือ หยุดหายใจระหว่างนอนหลับได้2. เพิ่มปัจจัยส่งเสริมการนอนที่ดี เช่น • ปรับสภาพแวดล้อมการนอนที่เหมาะสม เช่น หมอนควรพอดีกับต้นคอ ที่นอนไม่แข็งหรือนิ่มจนเดินไป อุณหภูมิพอดีเย็นสบาย แสงไม่ควรจ้าหรือควรปิดไฟขณะนอนหลับ• ท่านอนที่นอนหลับสบายคือนอนหงาย หรือนอนตะแคงโดยที่มีหมอนข้างหนุนที่ขาด้วย• เวลานอนและตื่น ( ตรงเวลา / เพียงพอ / นอนเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น )• ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น บริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ นั่งสมาธิก่อนเข้านอน ฟังเพลงเบาๆก่อนนอน หรือ หากิจกรรมอดิเรกทำในช่วงที่ว่างจากงาน
แต่ถ้าปรับสุขลักษณะการนอนแล้วไม่ดีขึ้น แสดงว่าคุณอาจต้องมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมหรือใช้ยาช่วยปรับการนอนตามสาเหตุที่แพทย์ตรวจพบ ซึ่งปัจจุบันการรับประทานยานอนหลับไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ทำให้ติดยาเหมือนความเชื่อที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ซื้อยาเองหรือปรับขนาดยาเอง
ที่มา : samitivejhospitals
นอนไม่หลับ ทำไง?