แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Light เมื่อ 2012-1-5 21:08
ผลการสำรวจของ "เอแบคโพล"
ผมขออนุญาตนำผลการสำรวจของ "เอแบคโพล" ที่ลงในบล็อกของคุณลูกเสือหมายเลข ๙ มาลงให้ทราบก่อน ดังนี้
ผลการสำรวจของ "เอแบคโพล" พบว่า "คนไทยจำนวนมากสอบตกภาษาไทย" โดยผลสำรวจหัวข้อ "วันภาษาไทย" ที่ศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
๒,๒๗๗ ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ พบว่าร้อยละ ๘๕.๓ ไม่ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันใด มีเพียงร้อยละ ๑๔.๗ ที่ทราบ และตอบถูกว่าวันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่
29 กรกฎาคม ส่วนเรื่อง "ภาษาไทย" นั้น ..สอบตกแน่นอน เพราะร้อยละ ๘๔.๙ ไม่ทราบว่า ภาษาไทยมีสระกี่รูป, ร้อยละ ๘๑.๒ ไม่ทราบความหมายของร้อยกรอง, ร้อยละ ๗๕.๐ ไม่ทราบความหมายของร้อยแก้ว, ร้อยละ ๖๔.๒ ไม่ทราบวรรณยุกต์ในภาษาไทยว่ามีกี่รูป และร้อยละ ๑๑.๗ ไม่ทราบว่า พยัญชนะไทยมีกี่ตัว ส่วน "พยัญชนะภาษาไทย" ที่คนไทยสับสนในการใช้มากที่สุด ร้อยละ ๒๖.๑ ระบุเป็นตัว “ฎ”, รองลงมาคือ ร้อยละ ๑๓.๖ ระบุเป็น “ฏ”, ร้อยละ ๙.๘ ระบุเป็น “ร”, ร้อยละ ๕.๘ ระบุเป็น “ฑ”, ร้อยละ ๔.๕ ระบุเป็น “ณ” และร้อยละ ๔.๕ เท่ากัน ระบุเป็น “ฐ” ตามลำดับ
รู้ไหมว่า "ใคร" เป็นต้นเหตุให้คนไทยมีปัญหาในการใช้ภาษาไทย คำตอบก็คือ ร้อยละ ๘๐.๖ ระบุว่ากลุ่มวัยรุ่น, ร้อยละ ๔๖.๐ ระบุเป็นกลุ่มนักร้อง, ร้อยละ ๔๔.๘ ระบุเป็นกลุ่มดารานักแสดง, ร้อยละ ๑๘.๑ ระบุผู้ดำเนินรายการวิทยุ, ร้อยละ ๑๗.๒ ระบุเป็นนักการเมือง, ร้อยละ ๑๗.๒ ระบุเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, ร้อยละ ๑๕.๘ ระบุเป็นผู้ประกาศข่าว และร้อยละ ๘.๙ ระบุเป็นครูอาจารย์ ตามลำดับ...แปลกเนาะ..ไม่มีใครโทษตัวเองว่าไม่สนใจเอง ยังน่าดีใจที่ร้อยละ ๙๒.๕ เห็นว่าเร่งแก้ไขอนุรักษ์ฟื้นฟูการใช้ภาษาไทยโดยเร็ว
อ้างอิง : บล็อกของคุณลูกเสือหมายเลข ๙ เรื่อง "น่าวิตกที่คนไทยสอบตกภาษาไทย" เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ - ขอขอบคุณ
*****
ความเป็นห่วงของราชบัณฑิต สาขาภาษาไทย
ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย อดีตผู้จัดรายการภาษาไทยวันละคำ กล่าวถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันว่า วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีการใช้ภาษาไทยผิดพลาดมากที่สุด ทั้งการพูดและการเขียนไม่ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล มีการดัดแปลงคำตัวสะกด ตัวการันต์ให้ผิดเพี้ยนไปตามกระแสนิยม รวมทั้งการออกเสียงรวบคำหรือตัดคำให้สั้นลง ใช้คำควบกล้ำไม่ถูกต้องจนเกิดความเคยชิน เมื่อเขียนไปจึงไม่ถูกต้อง ส่วนมากจะเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่เป็นทางการ แต่หากใช้คำผิดตลอดเวลา ก็จะไม่รู้ว่าภาษาไทยที่ถูกต้องนั้นเขียนอย่างไร
"สิ่งที่น่าห่วงคือ การใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องในวัยเด็ก จะส่งผลกระทบต่อการเรียนหนังสือในระดับสูงขึ้นไป เพราะไม่สามารถเรียบเรียงข้อความหรือเขียนเรื่องราวยาว ๆ ได้ และใช้ข้อความไม่สมบูรณ์ แต่ละประโยคไม่ปะติดปะต่อกัน กระโดดข้ามไปข้ามมา คนอ่านก็ไม่เข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไร และมีปัญหาการเรียนในที่สุด" ศ.ดร.กาญจนา กล่าว
ราชบัณฑิต สาขาภาษาไทย ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้มีคำหรือสำนวนภาษาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ราชบัณฑิตยสถานพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลไปอยู่ในคลังคำ แต่มีหลายคำที่มีความหมายไม่ดี คำหยาบคาย ก็ไม่ควรใช้ เช่น เด็กผู้หญิงสมัยนี้ชอบนุ่งกระโปรงเอวต่ำ ก็จะพูดว่า นุ่งกระโปรงเสมอจิ๋ม และกลุ่มรักร่วมเพศ ก็ใช้คำว่า อีแอบ เก้งกวาง เพื่อเรียกคนที่เป็นเกย์กะเทย ก็ไม่ถูกต้องเพราะเป็นคำล่อแหลมไม่สุภาพ และภาษาเก่าเปลี่ยนความหมาย ส่วนศิลปินนักร้องออกเสียงไม่ถูกต้อง เช่น ร.เรือ และ ล.ลิง อย่างไรก็ตาม ภาษามีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องยึดแก่นหรือหลักการใช้ให้ถูกต้อง
"สาเหตุที่ใช้ภาษาไทยผิดกันเยอะ เพราะระบบการศึกษา ครูไม่สอนให้นักเรียนเขียนหนังสือ บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวความคิด เวลาสอบก็ใช้วิธีกากบาทหรือวงกลมลงในช่องคำตอบ ทำให้ไม่มีทักษะการเขียนอย่างถูกต้อง" ศ.ดร.กาญจนา เผย
อ้างอิง : บล็อกของคุณติ่ง เรื่อง ระบบศึกษาตัวการภาษาไทยวิบัติ ! เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ - ขอขอบคุณ
*****
ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ช่วยกันเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง
การตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทย นั้น สิ่งที่ควรทำก่อนสิ่งใด ก็คือการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้ช่วยกันเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง
การกระตุ้นและปลูกจิตสำนึก สามารถกระทำได้ด้วย
๑. การเล็งเห็นประโยชน์ของการเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง
๒. การเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความพยายาม
๓. มีหน่วยงานราชการและศูนย์ภาษาไทยที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ
๔. มีตำราภาษาไทย ในเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง อยู่มากมาย
๕. มีพจนานุกรมสำหรับอ้างอิง ในกรณีไม่แน่ใจว่าคำที่ถูกต้อง เขียนอย่างไร
๖. เป็นการช่วยชาติ ในการรักษาสมบัติวัฒนธรรมภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
เมื่อมีจิตสำนึกที่จะเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คงไม่ยาก เป็นขั้นตอนในการเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง
๑. ศึกษาหลักการเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง
๒. ลงมือเขียนภาษาไทยที่ถูกต้อง
๓. เมื่อสงสัยคำใด ให้เปิดค้นหาคำที่ถูกต้อง จากเว็บไซต์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือจากหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
๔. เมื่อสงสัยว่าประโยคใดจะเขียนไม่ถูกต้อง ก็ค้นหาได้จากตำราภาษาไทย ในเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง หรือสอบถามไปที่ราชบัณฑิตยสถาน หรือสอบถามไปยังศูนย์ภาษาไทย หรือจากผู้รู้ภาษาไทยดี
๕. หมั่นฝึกฝนในการเขียนภาษาไทยอยู่เสมอ
ตัวอย่างการศึกษาคำและวลีที่เขียนถูกต้องและเขียนผิด
โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์ภาษาของเราไว้ครับ ทุกวันนี้พวกเราที่เป็นเยาวชนของชาติไม่ใส่ใจการใช้ภาษาจริงๆ ผมเข้าใจดีว่ามันเป็นที่นิยมแล้วก็ง่ายต่อการพิมพ์ เพราะเมื่อก่อนผมเองก็เคย คิดว่ามันเท่ มันเจ๋งอะ ชั้นพิมพ์แบบนี้สาวติด แต่จริงๆนะครับพอโตขึ้นได้เรียนรู้โลกมากขึ้นจะรู้เลยว่ามันไม่เท่หรอก มันดูแบบไม่รักตัวเอง ไม่รักสถาบันตัวเอง และทำให้คุณค่าในตัวเราลดลงด้วย มันไม่ใช่เรื่องยากหรอกครับที่จะพิมพ์ให้ถูกหลัก
ถามว่าทุกวันนี้พิมพ์ยังมีพิมพ์ผิดอยู่ไหม บอกตรงๆว่ายังมียังติดอยู่บ้างแต่ก็พยายามแก่ไขอยู่ และอยากให้ทุกคนแก้ไปด้วยกันกับผม มันยากหรอกครับ แค่อนุรักษ์ภาษาที่มีมาแต่ก่อนเกิดไว้ให้ลูกหลานใช้อย่างถูกต้อง
credit : http://www.oknation.net/blog/surasakc/2009/08/22/entry-1
การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง