นักวิชาการเฟมินิสต์ญี่ปุ่นกล่าว การเลือกปฏิบัติทางเพศถือเป็นภัยพิบัติของมนุษย์
![](https://usercontent.2th.me/a/i/totn9gdg/2th.me_3219526.jpg)
จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำให้เห็นปัญหาของประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับการกีดกันทางเพศ ซึ่งประเทศที่ชูเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นสำคัญอย่างฟินแลนด์ ได้ให้การยอมรับเป็นพิเศษแก่ผู้บุกเบิกการศึกษาของสตรีชาวญี่ปุ่น
คุณ Ueno Chizuko นักสังคมวิทยาและตัวแทนของเฟมินิสต์ในญี่ปุ่น เป็น 1 ใน 16 คนแรกจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัล Hän Honours จากรัฐบาลประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่าง “ไม่หวาดหวั่น และไม่ลดละ” จากงานวิจัย งานเขียน และการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมของเธอ บ่งบอกได้ว่าเธอนั้นต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงทางเพศ
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณอุเอโนะ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัยโตเกียว ว่าแม้แต่มหาวิทยาลัยระดับต้นของประเทศ ก็ยังคงไม่ปลอดจากปัญหาทางเพศเช่นเดียวกับสถาบันอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกดดันและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม
นักวิชาการหญิงในวัย 70 ปี ผู้นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการของเครือข่ายการดำเนินงานของสตรี (องค์กรไม่แสวงผลกำไร) ชี้ให้เห็นว่าในจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโตเกียวนั้น มีเพียงแค่ร้อยละ 20 ที่เป็นเพศหญิง อันเนื่องมาจากหลักฐานชี้ชัดมากมายที่บอกว่ามาตรฐานในการรับผู้หญิงเข้ามาเป็นนักศึกษานั้นสูงกว่าของผู้ชายเป็นอย่างมาก และเธอยังกล่าวว่าเหตุผลหนึ่งที่เกิดความแตกต่างนี้ คือการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ซ่อนอยู่ในทุกการตัดสินใจลงทุนด้านการศึกษาโดยผู้ปกครองของเยาวชน ที่ดั้งเดิมเชื่อกันว่าลูกชายจะต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนลูกสาวให้เรียนจบแค่ชั้นมัธยมก็เพียงพอแล้ว แม้แต่นักศึกษาหญิงใน ม.โทได เองก็รู้สึกว่าตนเองถูกปฏิบัติด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างปจากเดิม
ซึ่งคุณอุเอโนะได้ยกตัวอย่างนักศึกษาหญิงที่ปกปิดความจริงที่ว่าพวกเธอสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับนักศึกษาชายจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในขณะที่หากเป็นนักศึกษาชายสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ สิ่งที่ตามมาคือการนำไปคุยโอ้อวดเป็นคุ้งเป็นแควได้โดยไม่ต้องกลัวอะไร และคุณอุเอโนะยังอ้างถึงกรณีที่นักศึกษาชาย 5 คน รุมทำร้ายนักศึกษาหญิงที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จากคำให้การในศาลว่าพวกพวกเขาทำไปเพราะดูแคลนผู้หญิงว่าไม่สมควรจะฉลาด
คุณอุเอโนะยังเตือนนักศึกษาเข้าใหม่ ผู้ผ่านการสอบแข่งขันอันดุเดือนว่าพวกเขาสมควรแล้วที่จะได้รับรางวัลจากความพยายามอย่างหนักเพื่อผลักดันตัวเองให้มาถึงจุดนี้ได้ และพวกเขายังโชคดีที่มีผู้คนรอบตัวคอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ และจดจำในความสำเร็จของพวกเขา
“มีคนที่ถอดใจไปก่อนที่จะได้ลอง เพราะถูกกดดันจากความเห็นแย่ ๆ หรือความคิดทำนอง ‘แกไม่มีทางทำสำเร็จหรอก’ หรือ ‘สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อในตัวฉัน'” และเธอยังกล่าวว่า “ฉันหวังว่าพวกคุณจะตั้งใจพยายาม โดยไม่ใช่เพียงแค่เอาชนะเพื่อตัวของพวกคุณเองเท่านั้น”
“ฉันหวังว่าพวกคุณจะใช้พรสวรรค์และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยรอบตัวนี้ในการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส โดยไม่ผลักพวกเขาให้ต่ำลง และหวังว่าพวกคุณจะใช้ชีวิตโดยยอมรับตัวตนของตัวเอง จุดอ่อนของตัวเอง และโดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” คุณอุเอโนะ กล่าว
อ้างอิงจากแหล่งข่าว คุณอุเอโนะบอกว่าเธอนั้นไม่คิดว่าจะมากล่าวสุนทรพจน์ในงานนี้ แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของสังคมในญี่ปุ่น และมีผู้ที่เสนอชื่อให้เธอได้มาร่วมงานนี้ เธอจึงตัดสินใจที่จะมา และตลอดการกล่าวสุนทรพจน์นั้นไม่มีการเข้ามาขัดขวางหรือเซนเซอร์สิ่งที่เธอพูดเลย เช่นในตอนที่เธอกล่าวถึงการศึกษาของสตรี เธอยังพูดถึงหัวข้อเช่นอะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงใช้กันก่อนที่จะมีผ้าอนามัยใช้กันทั่วไป เช่นเดียวกับเรื่องของคนกลุ่มน้อยทางเพศในญี่ปุ่น และเธอรู้สึกขอบคุณที่ทางมหาวิทยาลัยไว้วางใจให้เธอได้มากล่าวปราศรัยในครั้งนี้ด้วย
คุณอุเอโนะยังกล่าวว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในญี่ปุ่นนั้นเป็นผลมาจากความผิดพลาดทางการเมืองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และนั้นทำให้มันเป็น “ภัยพิบัติของมนุษย์”
เมื่อโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงโลก ทุกสังคมต่างมองหาผู้หญิงเพื่อป้อนเข้ามาในตลาดแรงงาน ทำให้ภาระหน้าที่ในบ้านที่มีแต่เดิมต้องถูกเปลี่ยนมือไป ในขณะที่ยุโรปเหนือและอเมริกาเหนือต่างพึ่งพาการดูแลจากภาครัฐ หรือแรงงานราคาถูกในตลาด ประเทศอย่างอิตาลี สเปน กรีซ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่างต้องการรูปแบบที่ผู้ชายแข็งแรงคอยหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแเรื่องในบ้าน ซึ่งเป็นภาระหน้าที่การทำงานที่ไม่มีค่าตอบแทน เหมือนคุณย่าคุณยายที่คอยดูแลลูกหลานในครอบครัว
คุณอุเอโนะกล่าวว่า “แต่ในตอนนี้ ตัวเลือกเหล่านั้นใช้ในญี่ปุ่นไม่ได้ผลแล้ว” และ “สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเด็นของเพศกลายมาเป็นอะไรบางอย่างที่เทียบเท่ากับเชื้อชาติ หรือชนชั้น ภายในสังคมอื่น ๆ” ซึ่งผลจากการตัดสินใจดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นอยู่ในรูปของอัตราการเกิดของประชากร ประเทศที่มีผู้ชายเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว จะมีอัตราการเกิดต่ำ (อย่างของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.42 ในปี 2018 ซึ่งต่ำกว่า 2.07 ซึ่งเป็นอัตราที่จะคงสภาพจำนวนประชากรเอาไว้ได้) อัตราดังกล่าวเป็นตัวแทนของจำนวนทารกโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเลี้ยงดูได้ตลอดชีวิตของเธอ
แม้กฏหมายการจ้างงานที่เท่าเทียบกันของญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1986 ภาระงานที่มีเป็นสองเท่าของผู้หญิงจากงานนอกและในบ้านนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อรวมกับการผ่อนปรนข้อบังคับด้านแรงงานทั้งหลาย จำนวนแรงงานที่ผิดปกติก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากรายงานของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ระบุว่าแรงงานหญิงกว่าร้อยละ 56.8 นั้นอยู่ในการจ้างงานที่ผิดปกติ จากการสำรวจในเดือนมกราคม 2019 ซึ่งมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับแรงงานชาย
แต่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมยุคใหม่ได้ผลักดัน “การประเมินตนเองและความรับผิดชอบต่อตนเอง” ขึ้นมา ส่งผลให้เกิดคติขึ้นว่าตนเองจะเป็นฝ่ายผิดหากมีความล้มเหลว หรือเมื่อไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เกิดขึ้น ในขณะที่ทางฝั่งคนที่ประสบความสำเร็จจะมองว่าทุกอย่างล้วนได้มาเพราะความสามารถของตนเองเพียงเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่คุณอุเอโนะมองว่ามันผิด
แม้มันจะยากที่จะเปลี่ยนวิถีเหล่านี้โดยทันที แต่คุณอุเอโนะก็บอกว่ามันยังคงเปลี่ยนแปลงไปเองเรื่อย ๆ ดังที่เธอบอกว่า “มันไม่จริงที่ว่ากระแส #MeToo ไม่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น” และเธอยังชี้ให้เห็นถึงกรณีที่มีกาประท้วงอดีตนายกรัฐมนตรีอะโซ ทาโร่ จากเหตุการล่วงละเมิดทางเพศด้วยคำพูด รวมไปถึงกรณีของคุณฟุคุดะ จุนอิจิ ที่เคยมีคลิปเสียงหลุดออกมาว่าเขานั้นเคยได้พูดจาล่วงละเมิดทางเพศ ผลคือคุณฟุคุดะลาออกจากตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ก็ยังไม่มีการยอมรับว่าเรื่องในคลิปเสียงนั้นเป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด แต่กับกรณีของอดีตนายกอะโซ ที่ตกเป็นกระแสสังคมทันทีหลังจากเขากล่าวว่ามันไม่มีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศอยู่ในกฎหมาย
“มันไม่เหมือนกับความผิดฐานฆาตกรรม หรือการคุกคามทางเพศเสียหน่อย” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวในขณะนั้น แต่ในญี่ปุ่น ผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศสามารถตกเป็นอาชญากรได้ เช่นเดียวกับการคุกคามทางเพศ ข่มขืน หรือกลั่นแกล้ง ซึ่งผู้ประท้วงในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นยังได้แสดงเจตนารมย์ว่าพวกเธอจะไม่ให้อภัยกับการคุกคามทางเพศ พร้อมมีการเสนอแฮชแท็ก “#WithYou” เพื่อแสดงความสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย และการประท้วงในกรณีที่คล้ายคลึงกันนั้นยังมีเกิดขึ้นที่เกียวโตและซัปโปโร โดยการดำเนินการของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเป็นแกนนำ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า มาแสดงการขอโทษต่อผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า จากความผิดพลาดที่พวกเธอไม่เคยต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในอดีต ในนิตยสารออนไลน์ Hon no Mado นักเขียนวัย 50 คุณนากาจิมะ เคียวโกะ ได้บรรยายความเสียใจจากกรณีที่เธอไม่เคยมีปากมีเสียงกับข่าวช็อคประเทศเมื่อนักข่าวหญิง อิโต้ ชิโอริ ตกเป็นเหยื่อข่มขืนโดยนักข่าวที่มีชื่อเสียง ผลคือสิ่งที่เธอได้รับมีแต่คำประณามจากสังคม คุณนากาจิมะกล่าวว่า “หากคนในรุ่นของพวกเธอมีปากมีเสียงมากกว่านี้ สังคมก็คงจะเปลี่ยนไปแล้วแม้จะเล็กน้อยก็ตาม” และ “ฉันเสียใจจริง ๆ ที่ปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนั้น ที่เธอต้องเอาตัวรอดเพียงลำพัง”
คุณอุเอโนะกล่าวว่า “ไม่มีผู้หญิงคนไหนในปัจจุบันที่คิดว่าผู้ชายนั้นอยู่เหนือกว่าพวกเธอ” และ “ปัญหามันยังคงอยู่ในสังคม ไม่ว่าสังคมจะพร้อมรับมือกับมันหรือไม่ก็ตาม” หลังจากจบพิธีปฐมนิเทศ หนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียวได้จัดทำแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมตอบกว่า 4,921 คน รวมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว 603 คน ผลคือร้อยละ 61.7 ของนักศึกษาตอบว่าพวกเขาชื่นชอบการปราศรัยคร้ังนี้ ในขณะที่ร้อยละ 87.5 ของคนนอกมหาวิทยาลัยต่างให้ความสำคัญกับการปราศรัยเช่นเดียวกัน และในหมู่นักศึกษา ร้อยละ 82.2 ของนักศึกษาหญิงชอบเนื้อหาการปราศรัยนี้ และร้อยละ 53.1 ของนักศึกษาชายต่างได้รับการตอบสนองในเชิงบวก
“ในฐานะคนที่จบมาจากโรงเรียนมัธยมปลายในชนบท ฉันรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลต่อการศึกษาอย่างมาก” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 เขียนลงในความเห็นเพื่ออธิบายว่าเหตุใดเขาจึงชื่นชมการปราศรัยของคุณอุเอโนะ
“ฉันคิดว่าพวกเราที่ประสบความสำเร็จกับการเข้าศึกษาที่โทได จะต้องแบกรับความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อทำให้มันดีขึ้น ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง”
จากรายงานทำให้ทราบว่ายังมีคนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปราศรัยนี้ และมองว่าสิ่งที่คุณอุเอโนะพูดนั้นเป็นการมองเพียงด้านเดียว เป็นการชี้นำ ไม่เหมาะสมกับการนำมาพูดในพิธีปฐมนิเทศ แต่หนึ่งในนักศึกษาหญิง ที่ศึกษาอยู่ในชั้นปี 3 ของคณะศิลปะและวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าการปราศรัยครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมาก จากที่เธอเขียนบอกไว้ในคอมเมนต์ว่า “ฉันคิดว่าการปราศรัยนี้อธิบายสถานการณ์ของนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยได้ดี เช่นเดียวกับการกล่าวถึงผู้หญิงและคนกลุ่มน้อยในสังคมอีกด้วย”
Source: JapanToday via Akibatan