เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยโดนเปรียบให้เป็นปลาทองกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกขี้หลงขี้ลืมทั้งหลาย ทว่า แท้จริงแล้วสำนวน “ความจำสั้นเหมือนปลาทอง” นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ปลาทองมีความจำเป็นปกติไม่ต่างจากสัตว์อื่นๆ
ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ปลาทองมีความสามารถในการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์มากพอๆ กับทักษะการเรียนรู้ด้านสังคม นอกจากนี้ พวกมันยังมีสายตาอันแหลมคมพอที่จะแยกแยะผู้คนที่มีลักษณะแตกต่างกันได้ด้วย
หนึ่งในความสามารถในการเรียนรู้ของปลาทอง ก็คือ ความสามารถในการเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ รวมถึงคนอื่นๆ ด้วยอาหาร กล่าวคือ เวลาพวกมันเห็นเจ้าของ หรือใครก็ตามที่ให้อาหารเป็นประจำเดินผ่านไปผ่านมาบริเวณตู้ปลา พวกมันจะว่ายวนไปวนมาเพื่อขออาหารเสมอๆ
นอกจากนี้ ปลาทองยังมีการแสดงออกด้านพฤติกรรมในการจัดลำดับทางสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น หากมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในตู้เดียวกัน พวกมันมักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยการไล่ล่า หรือตอดครีบของปลาน้องใหม่อยู่ราว 2-3 วัน ก่อนที่จะกลับสู่ภาวะปกติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า พวกมันจำได้ว่าใครเป็นเด็กใหม่ใครเป็นเด็กเก่า แล้วอย่างนี้จะว่าปลาทองความจำสั้นได้อย่างไรกัน
สำหรับการเปรียบคนขี้ลืมกับปลาทองนั้นไม่ทราบว่ามีต้นกำเนิดจากที่ใด แต่สำนวนนี้ไม่ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่นำมาใช้ ทว่า พวกฝรั่งตาน้ำข้าวก็ใช้กันอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน เป็นไปได้ว่าก่อนหน้านี้คนเราอาจจะคิดว่าพวกปลาทองที่ว่ายวนไปวนมาอยู่ในตู้ คงจำไม่ได้ว่าตัวเองเคยว่ายมาที่แห่งนี้แล้วเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมา!!?
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :: http://www.dek-d.com/board/view.php?id=880970 และ http://www.doyouknow.in.th
" เกร็ดความรู้ " ปลาทองความจำสั้น จริงหรือ?